จำนวนพืชและสัตว์น้ำที่เหมาะสม

          มีพืชหลายชนิดที่สามารถปลูกกับระบบนี้ได้ แบ่งเป็นกลุ่ม ๆ เช่น กลุ่มผักกินใบ เช่น ผักกาด ต้นหอม กลุ่มผักกินผล เช่น มะเขือเทศ แตงกวา พริก และกลุ่มพืชผักสมุนไพร เช่น กะเพรา โหระพา สาระแน่ เป็นต้น ส่วนความหนาแน่นในการปล่อยปลาขึ้นกับขนาดของถังกับชนิดของตัวกรองที่ใช้ ในระบบการเลี้ยงในอแควเรียม มีข้อกำหนดอยู่ว่าปล่อยปลาขนาด 1 นิ้วต่อน้ำ 1 แกลลอน ในระบบที่ใหญ่ขึ้นและมีระบบกรองที่เหมาะสมในการเลี้ยงเพื่อการค้า ปกติจะปล่อยปลาขนาดสูงสุด 60 ถึง 100 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ตัน หรือสามารถปล่อยปลานิลได้ 100 ตัว ปล่อยปลาดุกได้ 500 ตัวต่อน้ำ 1 ตัน จำนวนพืชที่ปลูกมีความสัมพันธ์โดยตรงกับ จำนวนปลา ขนาดของปลา ปริมาณอาหารปลาที่ให้แต่ละวัน จากการทดสอบพบว่า 60-100 กรัมของอาหารปลาที่ให้แต่ละวัน สามารถจะปลูกพืชในระบบอควาโปนิกส์ได้ 1- 3 ตารางเมตร ถังเลี้ยงปลาขนาด 1 ตัน รองรับแปลงปลูกพืชแบบรากแช่ลึกได้ประมาณ 10 ตารางเมตร ปล่อยปลานิลขนาด 30 ตัวต่อกิโลกรัมได้ 100 ตัว ปล่อยปลาดุกขนาด 2 นิ้ว ได้ 500 ตัว ใน 1 รอบการผลิตใช้เวลาเลี้ยงปลา 4 เดือน ผลิตผัก บุ้งหรือผักสลัดได้ 8 รุ่น ผลิตมาเขือเทศและคึ่นช่ายได้ 1 รุ่น เป็นต้น (พ้วน, 2560)

          ปิยวัตน์ (2558) ได้ศึกษาสัดส่วนของพืชที่ปลูกในระบบระบบอควาโปนิกส์โดยมีระบบดังภาพที่ 10.7 พบว่า สัดส่วนของพืชที่ปลูกมีผลต่อคุณภาพน้ำ โดยปลูกพืชมากขึ้นจะสามารถดูดซับแอมโมเนียและไนเตรทไปได้มากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพน้ำดีขึ้น ทำให้ปลาเจริญเติบโตได้ดี โดยสัดส่วนที่เหมาะสมของการเลี้ยงปลา คือ ปลานิล 2 กิโลกรัมต่อผักกาดหวาน 60 ต้น





รูปแบบการเลี้ยงปลาร่วมกับการปลูกพืชแบบระบบอควาโปนิกส์ (aquaponics)
ปิยวัตน์ (2558)

          รุ่งตะวัน และคณะ (2554) ได้ศึกษาการทำฟาร์มแบบผสมผสานระหว่างเลี้ยงปลานิลร่วมกับการปลูกผักบุ้งจีนลอยน้ำ (ภาพที่ 10.8) แบ่งการทดลองออกเป็น 2 ชุดการทดลอง โดยชุดที่ 1 เป็นการทำฟาร์มแบบผสมผสานที่ใช้ระบบกรองชีวภาพร่วมกับโอโซนช่วยในการบำบัดน้ำ และชุดที่ 2 เป็นกลุ่มไม่มีการบำบัดน้ำ พบว่า การเติบโตตลอดช่วงเวลาการเลี้ยง อัตราการรอดตายเท่ากับ 78.2 และ 77.3 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ อัตราการแลกเนื้อเท่ากับ 1.37 และ 1.56 ตามลำดับ ในขณะที่ผลผลิตผักบุ้งจากทั้ง 2 ชุดการทดลองมีค่าเท่ากับ 18 และ 14 กิโลกรัม ตามลำดับ



ผักบุ้งที่ปลูกในแปลงลอยน้ำในบ่อเลี้ยงปลานิล
ที่มา: รุ่งตะวัน และคณะ (2554)

โดย ผศ.จามรี เครือหงษ์
สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ (เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ)
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

จำนวนผู้เข้าชม 605 คน
©2020 กลุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน (IT4CD)
All Rights Reserved. ติดต่อ orasa.t@nrsu.ac.th