สถานที่เที่ยว 8

huaypaannaan1_resize.JPG                                                                         

น่าน/ บริษัทประชารัฐฯ น่านชู “บ้านห้วยพ่าน” เป็นต้นแบบการจัดการท่องเที่ยวชุมชนแห่งแรกในจังหวัดน่าน  โดยสนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการท่องเที่ยวเอง  ใช้ความสวยงามตามธรรมชาติ  ล่องแม่น้ำน่าน  เรียนรู้วิถีชีวิตคนลัวะและถิ่น  ขณะที่ชุมชนเตรียมพร้อมรองรับการท่องเที่ยว  จัดตั้งกองทุน  สร้างกฎกติกา  และการบริหารจัดการ  ด้าน พอช.พร้อมหนุนเสริมชุมชนให้ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์เชื่อมการท่องเที่ยวลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด

     เมื่อเร็วๆ นี้  เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดน่าน   ร่วมกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดน่าน  จำกัด  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  กรมการพัฒนาชุมชน  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ได้เดินทางไปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่บ้านห้วยพ่าน  ต.เปือ  อ.เชียงกลาง  จ.น่าน  เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งแรกของจังหวัดน่าน  โดยชุมชนบริหารจัดการเอง                                                                                 

   ตำบลเปือตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเชียงกลางประมาณ  7  กิโลเมตร  มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ  70  ตารางกิโลเมตร  สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา  เป็นที่ราบต่ำ  สลับกับภูเขา  สูงมีแม่น้ำ  และลำน้ำธรรมชาติไหลผ่าน   มี 15 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ  7,200  คน   มีทั้งชาวลัวะ  ชาวถิ่น  และคนพื้นราบ  อาศัยอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข   ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา  ปลูกมะม่วง  มะขามหวาน  ลำไยลิ้นจี่   ส้ม ปลูกผัก  เช่น    ผักกาดเขียวปลี  ถั่วฝักยาว  ถั่วลันเตาทำไร่ข้าวโพด  ถั่วเหลือง  ถั่วลิสง  ยาสูบ  ฯลฯ

 

huaypaannaan2_resize.JPG


   จากสภาพของภูมิประเทศที่มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน  มีภูเขาสลับกับที่ราบ  จึงทำให้สภาพของตำบลมีความสวยงามตามธรรมชาติ  โดยเฉพาะที่บริเวณบ้านห้วยพ่านหมู่ที่ 13  บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดน่าน จำกัด  ซึ่งได้ลงมาสำรวจพื้นที่ก่อนหน้านี้และได้เล็งเห็นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวชุมชนจึงได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาบ้านห้วยพ่านให้เป็นต้นแบบการจัดการท่องเที่ยวชุมชนแห่งแรกในจังหวัดน่าน



    นายประทุม   จิณเสน  กรรมการผู้จัดการ  บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดน่าน  จำกัด  กล่าวว่า  บ้านห้วยพ่านมีความสวยงามตามธรรมชาติเหมือนกับเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน    มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน  มีความสวยงามเหมาะที่จะล่องแพ  หรือท่องเที่ยวทางเรือ  มีแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลา  มีการทำนาแบบขั้นบันได  และมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง  ทั้งวัฒนธรรมของชาวลัวะและถิ่น  (ทั้ง 2 ชาติพันธุ์ถือเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือและบริเวณชายแดนไทยลาว  มีภาษาพูดและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง) ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมจากภายนอกหลั่งไหลเข้ามา  ดังนั้นบริษัทประชารัฐฯ จึงสนับสนุนให้ชาวชุมชนลุกขึ้นมาจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนเอง  เพื่อเป็นการสร้างรายได้เข้าชุมชนเอง  ไม่ใช่ให้คนจากภายนอกเข้ามาหาผลประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว  

huaypaannaan3_resize.JPG

      “ที่ผ่านมาบริษัทประชารัฐฯ น่านได้สนับสนุนให้ตัวแทนชาวบ้านห้วยพ่านจำนวน 20  คนได้ไปเรียนรู้เรื่องการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน  โดยมีการจัดอบรม  และศึกษาดูงาน  การบริหารจัดการท่องเที่ยวชุมชน  นอกจากนี้ยังได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานการท่องเที่ยวในจังหวัด  ททท.  และองค์การปกครองท้องถิ่น  รวมทั้งประสานงานกับสถานีโทรทัศน์ที่เป็นพันธมิตรกับบริษัทประชารัฐฯ  เช่น  อมรินทร์ทีวี  มาถ่ายทำสารคดีการท่องเที่ยวชุมชนที่ห้วยพ่าน  เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ชุมชน  แต่เราก็ยังไม่อยากจะทำให้โด่งดังโดยเร็ว  เพราะหากนักท่องเที่ยวเข้ามามาก  จะทำให้ชาวบ้านตั้งรับไม่ทัน  และอาจจะเกิดผลเสียแก่ชาวบ้านเอง  ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ต้องรีบร้อน  ค่อยๆ ทำ เพื่อให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ไปด้วยและทำไปด้วย”  นายประทุมกล่าว

     นายจักรชัย   จิตตรง   กำนันตำบลเปือ  กล่าวว่า  ตำบลเปือได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานป่าไม้จังหวัดให้ทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนตั้งแต่เมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา  เพื่อจะให้ชาวบ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยว  เป็นการป้องกันไม่ให้ชาวบ้านบุกรุกป่าเพื่อทำไร่  แต่การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ผ่านมาไม่ประสบผลสำเร็จ  เนื่องจากชาวบ้านและหน่วยงานของรัฐไม่มีประสบการณ์ในการจัดการท่องเที่ยว  รวมทั้งยังไม่มีการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง  แต่ครั้งนี้ชาวบ้านได้รับการสนับสนุนให้ไปเรียนรู้เรื่องการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน  โดยมีบริษัทประชารัฐฯ น่านเป็นที่ปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงจึงมั่นใจว่าชาวบ้านจะทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนได้ด้วยชุมชนเอง

 

huaypaannaan4_resize.JPG


    “ตอนนี้ชาวบ้านกำลังรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อนำเงินมาเป็นทุนในการจัดการท่องเที่ยว   โดยจะมีที่พักแบบโฮมสเตย์  เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้าน  เช่น  ประเพณีเลี้ยงผีของคนลั๊วะ  การลงแขกทำงานโดยไม่ต้องจ้าง  การทำนาแบบขั้นบันได  การกินอาหารพื้นเมือง  ที่ทำจากหวาย   ต๋าว (ลูกชิด)  การทำอาหารในกระบอกไม้ไผ่  การล่องแพในแม่น้ำน่านที่มีความสวยงาม  เงียบสงบ  และมีปลาในแม่น้ำน่านที่ชาวบ้านอนุรักษ์เอาไว้  เช่น  ปลาปีกแดง  ปลากดคัง  ปลาเพี้ยะ”  กำนันตำบลเปือกล่าว  และบอกว่าชาวบ้านจะมีการจัดประชุมร่วมกันในเร็วๆ นี้  เพื่อกำหนดเรื่องการระดมทุน  กฎระเบียบในการท่องเที่ยว  การบริหารจัดการ  รวมทั้งเรื่องการแบ่งปันรายได้จากที่พักแบบโฮม สเตย์  ซึ่งหากนักท่องเที่ยวกลุ่มใดสนใจที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงนี้ก็สามารถติดต่อมาได้ที่เบอร์โทร  093-1364610

    นายปฏิภาณ  จุมผา  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  สำนักงานภาคเหนือ  กล่าวว่า  พื้นที่ตำบลเปือส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติน้ำยาวและน้ำสวด  ชาวบ้านจึงไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน  และแต่เดิมชาวบ้านจะปลูกข้าวโพดเป็นหลัก  ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ดิน  น้ำ  ป่า  ถูกทำลายจากการปลูกข้าวโพดที่ต้องใช้สารเคมีอย่างเข้มข้น  ซึ่งที่ผ่านมา พอช.ได้สนับสนุนให้ชาวบ้านแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและป้องกันการบุกรุกป่าเพิ่มเติม  โดยการสำรวจข้อมูลที่ดินทำกินเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยใช้ระบบ GIS/GPS เป็นเครื่องมือในการจัดทำข้อมูล  พื้นที่ที่ใช้ประโยชน์  พื้นที่ป่า พื้นที่ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ข้อมูลจากการทำแผนที่ตำบลรายแปลงและขอบเขตตำบล ฯลฯ 

     “ข้อมูลเหล่านี้ได้นำไปสู่การจัดทำ “ข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติตำบลเปือ” ขึ้นมา  เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเด็นการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่น  ด้วยการสร้างคนและเชื่อมโยงกลไกองค์กร ชุมชน หน่วยงาน ท้องถิ่น ท้องที่  กรรมการหมู่บ้าน ทหาร ป่าไม้ สร้างความเข้าใจร่วมกัน  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานที่สำคัญในการจะนำไปสู่เป้าหมายในการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน” นายปฏิภาณกล่าว

     นายปฏิภาณกล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ พอช.ยังร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์จังหวัดน่านสนับสนุนให้ชาวบ้านที่ตำบลเปือเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดมาเป็นการทำเกษตรอินทรีย์   โดยมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันไปแล้วระหว่างภาคีเครือข่ายกับเครือข่าววิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดน่านที่ชาวบ้านในตำบลเปือเป็นสมาชิกด้วย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา  โดยจะมีการสนับสนุนชาวบ้านทั้งด้านความรู้ในการปลูกพืชอินทรีย์  การแปรรูป  และการส่งเสริมช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์  ซึ่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่บ้านห้วยพ่านและตำบลเปือก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน  และสามารถเชื่อมโยงกับเกษตรอินทรีย์ได้  โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเที่ยวชมธรรมชาติและกินอาหารอินทรีย์จากชาวบ้านได้

 

huaypaannaan5_resize.JPG

huaypaannaan6_resize.JPG

huaypaannaan7_resize.JPG

huaypaannaan8_resize.JPG

 

สุวัฒน์ กิขุนทด รายงาน

credit : http://codi.or.th/index.php/public-relations/news/15207-2016-12-16-09-22-10