ตามหา “เกอิชา” นางฟ้ากาแฟ....แห่งเมืองน่าน

โดย Pleng Phantakarn
@2019-01-28 21:57:56

ภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่ดอยผาผึ้ง

หากพูดถึงเมืองน่าน ความรุ่มรวยแห่งศิลปะและวัฒนธรรม คงเป็นเหตุผลแรกที่เชื้อเชิญผู้คนจากทั่วสารทิศให้มุ่งสู่ดินแดนในอ้อมกอดของขุนเขาแห่งนี้

น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ยังมีสุนทรียะของชีวิตอีกอย่างหนึ่งอยู่ที่นี่ด้วย...

กรุ่นกลิ่นกาแฟหอมลอยมาเตะจมูก ขณะที่เบื้องหน้า คือ ทะเลหมอกอันงดงามของดอยผาผึ้ง ดอยอันเป็นภูเขาหินปูนที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1,600 เมตร เป็นป่าต้นน้ำสำคัญ ที่มีตำนานของน้ำผึ้งป่าอันอุดม

การเดินทางสู่เมืองน่านคราวนี้ มีวัตถุประสงค์ที่ต่างไปจากการเที่ยวเมืองน่านในคราวอื่น ด้วยเพราะชื่อเสียงของกาแฟ ที่กำลังเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของที่นี่ ได้รับการกล่าวขาน จนทำให้คอกาแฟอย่างเราอดใจไว้ไม่ไหว ต้องรีบจองตั๋วเครื่องบินและวางแผนการเดินทางสู่เส้นทางกาแฟน่าน ตามคำเชื้อเชิญของ เอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานแพร่ ซึ่งรับผิดชอบดูแลการท่องเที่ยวในจังหวัดแพร่และน่าน

ดอยภูคา..มุมมองจากผาผึ้งบ้าน มณีพฤกษ์

ผอ.เอิบลาภ บอกกับเราว่า จริงๆแล้ว จังหวัดน่านมีแหล่งปลูกกาแฟอยู่หลายแหล่ง มีแบรนด์กาแฟที่เป็นที่รู้จักหลากหลายแบรนด์ เช่น กาแฟภูพยัคฆ์ กาแฟพันธุ์อาราบิก้า ซึ่งปลูกอยู่ที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริภูพยัคฆ์ และหมู่บ้านในโครงการฯ ในเขต อ.เฉลิมพระเกียรติ กาแฟหมู่บ้านสันเจริญ เขต อ.ท่าวังผา ซึ่งชาวบ้านที่นั่นปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลัก ฯลฯ

เอิบลาภ ศรีภิรมย์

“ทุกวันนี้ เวลามาเที่ยวน่าน นอกจากขึ้นดอย ไหว้พระ เที่ยวชมศิลปวัฒนธรรม ตามรอยเส้นทางผ้า เส้นทางเครื่องเงินแล้ว กาแฟก็เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของการท่องเที่ยว ตั้งแต่ชิมกาแฟตามร้านกาแฟเก๋ๆ ชิคๆในเมืองน่าน และอำเภอต่างๆ อย่างเช่น อ.ปัว ที่มีร้านกาแฟสวยๆอยู่ไม่น้อย ไปจนถึงการท่องเที่ยวตามเส้นทางกาแฟที่สามารถขึ้นไปเที่ยวได้ถึงแหล่งผลิตในไร่กาแฟโดยตรง” ผอ.ททท.แพร่บอก

กรุ่นกลิ่นกาแฟท่ามกลางทะเลหมอก..ที่บ้านมณีพฤกษ์

ได้รู้เรื่องกาแฟน่านอย่างคร่าวๆแล้ว ก็ได้เวลาเดินทางสู่หมู่บ้านมณีพฤกษ์ ในเขตอำเภอทุ่งช้าง ซึ่งเป็นเป้าหมายการเดินทางของเราคราวนี้

ภารกิจสำคัญคือ การจิบ “เกอิชา” นางฟ้าแห่งกาแฟ ที่ร่ำลือกันว่ากลิ่นหอมและรสชาติของนางนั้น เย้ายวนนักดื่มกาแฟไม่น้อย...

เกอิชา เป็นสายพันธุ์กาแฟในตระกูลอาราบิก้า ซึ่งเป็นกาแฟที่นิยมปลูกในพื้นที่สูง ชื่อของกาแฟสายพันธุ์นี้ จริงๆแล้วมาจากชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเอธิโอเปียที่ปลูกกาแฟชนิดนี้ ต่อมามีการนำเมล็ดพันธุ์กาแฟชนิดนี้ไปปลูกที่ปานามา จนโด่งดัง จึงเรียกนางฟ้ากาแฟสายพันธุ์นี้ ว่า ปานามา เกอิชา และมีการขยายพันธุ์นำไปปลูกตามแหล่งต่างๆทั่วโลก รวมทั้งที่หมู่บ้านมณีพฤกษ์ด้วย

หมู่บ้านมณีพฤกษ์ เป็นอีกหนึ่งในแหล่งปลูกกาแฟที่สำคัญของจังหวัดน่าน ที่มีแบรนด์กาแฟมณีพฤกษ์เป็นของตัวเอง เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลราว 1,200-1,400 เมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงที่มีความหนาวเย็นเพียงพอสำหรับการปลูกพืชอย่างกาแฟได้ดี

เกอิชา..นางฟ้ากาแฟแห่งบ้านมณีพฤกษ์

เดิมหมู่บ้านแห่งนี้เคยเป็นสมรภูมิการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ชื่อว่า หมู่บ้านฉงผ้า หรือฉงไผ่ เป็นหมู่บ้านของชาวม้งที่อพยพมาจากประเทศจีน เพราะสมัยนั้นจีนเกิดสงครามพวกม้งต้องเร่ร่อนหาที่ทำกิน เมื่อเดินทางมาถึงตอนเหนือของประเทศไทย และเห็นว่าเป็นภูมิประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก จึงตั้งรกรากขึ้นที่นี่ กระทั่งมีนายทหารชื่อ พ.ท.อนัน พฤกษ์ กับนายตำรวจอีกคนชื่อ “มณี” ไม่ปรากฏนามสกุลได้วางแผนปราบปรามคอมมิวนิสต์ จนได้รับชัยชนะ ชาวบ้านเข้ามอบตัวกับทางราชการ ในปี พ.ศ.2527 จึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจาก “ฉงผ้า” หรือ “ฉงไผ่” เป็น “มณีพฤกษ์” โดยใช้ชื่อนายตำรวจและนามสกุลของนายทหารสองท่านนั้นมาจนถึงปัจจุบัน

การเดินทางท่องเที่ยวในหมู่บ้านมณีพฤกษ์ นอกจากจะได้เที่ยวไร่กาแฟแล้ว ยังได้เห็นร่องรอยประวัติศาสตร์การสู้รบของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่มีทั้งฐานที่มั่นปฏิบัติการทางทหาร และถ้ำซึ่งเป็นที่หลบซ่อนของ สหาย สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในยุคนั้น ผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้ง และลัวะ อาชีพหลักคือทำเกษตรกรรม สมัยก่อนหลักๆก็จะปลูกกะหล่ำปลี ขิง เพิ่งมาเริ่มปลูกกาแฟในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เพราะการปลูกพืชสองอย่างแรก แม้จะได้เงินเป็นกอบเป็นกำ แต่ก็ต้องตัดไม้ถางป่าไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าปล่อยต่อไป อีกไม่นานก็จะไม่เหลือผืนป่าให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารอีก

ปัจจุบันการปลูกกาแฟที่หมู่บ้านมณีพฤกษ์ ทำกันอยู่ 2 แบบ คือ ปลูกแซมใต้ต้นไม้ กับ ปลูกแบบเป็นไร่กลางแดด กาแฟที่นี่เป็นอาราบิก้า ปลูกแบบออแกนิกไม่ใช้สารเคมีใดๆทั้งสิ้น

รุ่งอรุณที่หมู่บ้านมณีพฤกษ์ นักชิมกาแฟอย่างเราตื่นเต้นเป็นทุนเดิม เหมือนกำลังจะได้พบกับสาวงามที่เต็มไปด้วยเสน่ห์แพรวพราย

เกอิชา คือ เธอคนนั้น...

รสชาติของเกอิชา ไม่ขมเข้มเหมือนกาแฟ

เมล็ดกาแฟเชอร์รี่สุกอร่าม

พันธุ์ดุทั่วไป แต่จะออกไปทางฟรุตตี้เล็กๆ กลิ่นคล้ายดอกมะลิ คนที่ชอบกาแฟเข้มขม อาจไม่พิสมัยนางเท่าไหร่นัก แต่ถ้าจะจิบเป็นกาแฟรับอรุณเบาๆล่ะก็ เธอก็เย้ายวนไม่น้อยเหมือนกัน เรื่องเล่าต่อๆกันมาของคนปลูกกาแฟ บอกว่า เกอิชา เป็นกาแฟที่มีเมล็ดใหญ่สวย ค่อนไปทางเรียว ไม่อ้วนกลม มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว ที่ไม่มีกาแฟสายพันธุ์ใดในโลกที่มีลักษณะเด่นเท่านี้อีกแล้ว

จากมณีพฤกษ์เหนือขึ้นไปอีกราว 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นที่ตั้งของดอยผาผึ้ง ซึ่งเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและตกที่สวยงามมาก ยิ่งในช่วงที่ดอกไม้บานด้วยแล้ว ที่นี่ไม่ต่างกับสวรรค์บนดอยที่เสพและสัมผัสได้อย่างไม่รู้เบื่อ

ผอ.ททท.แพร่ บอกว่า ถ้าอยากจิบกาแฟเกอิชาแบบที่ไม่ต้องลำบากตามหาถึงดอยสูง วันที่ 25-29 ม.ค.นี้ ททท.สำนักงานแพร่ จะยกกาดกาแฟจากเมืองน่าน มาให้ได้ช็อป ชิม และจิบกาแฟหอมๆจากยอดดอยกันที่สวนลุมพินี....

ยิ่งถ้าได้ขนมหวานๆกินกับกาแฟขมร้อนๆ ต่อให้ยกอาหารภัตตาคารมายั่วยวน คอกาแฟอย่างเราไม่ปันใจให้ใครแน่นอน.


เครดิต : https://www.thairath.co.th/content/840037