หยัดยืนบนแผ่นดินผืนนี้...บ้านมณีพฤกษ์

โดย Pleng Phantakarn
@2019-02-04 01:19:03

บ้านมณีพฤกษ์

บ้านมณีพฤกษ์

บ้านมณีพฤกษ์

บ้านมณีพฤกษ์

บ้านมณีพฤกษ์

บ้านมณีพฤกษ์

บ้านมณีพฤกษ์


หยัดยืนบนแผ่นดินผืนนี้...บ้านมณีพฤกษ์ (อสท)

ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ และ ปณต คูณสมบัติ...ภาพ

          ต้นฤดูฝน...ถนนสายหนึ่งบนแดนดอยของอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ เป็นตัวของตัวเอง และทอดตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของผู้คนบนภูเขามาเนิ่นนาน เทือกดอยหลังฤดูหักร้างเผาถางเริ่มคืนความเขียวชื่น ผู้คนหลอมรวมตัวเองเข้ากับชีวิตบนภูเขาเมื่อเราผ่านพันอำเภอปัวและเชียงกลาง เช่นเดียวกับยุคที่แผ่นผืนภูเขาเมืองน่าน เคยถูกขีดแบ่งพื้นที่ด้วย "อุดมการณ์" คำว่าความเหลื่อมล้ำมีตัวตนชัดเจน และภูเขาคือที่ทางของการแบ่งแยก

          เหวี่ยงตัวเองไปตามคดโค้งของถนน อากาศเย็นชื่นขึ้นตามเสียงสนยืนต้นไหวลม บ่งบอกถึงการขึ้นมาเหนือความสูงกว่า 1,000 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ระหว่างทางที่ห้อมล้อมอยู่ด้วยทะเลภูเขากระจ่างตา และบ้านเรือนของพี่น้องชาวไทยภูเขาตลอดสองข้างถนน ที่ลัดหลั่นลงไปตามไหล่เนิน ฤดูฝนคือโมงยามแห่งการดูแลผืนดินที่เต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์ นาทีอ่อนโยนปกคลุมขุนเขาอยู่ในภาพผู้คนและการงาน

          กลางฝนห่มหมอกอยู่ตั้งแต่เช้าจดเย็น เราขึ้นมาถึง "บ้านมณีพฤกษ์" อากาศหม่นเทาพอ ๆ กับความเงียบเชียบที่ปกคลุมหุบดอย ไร้สีสันของไม้ดอกอย่างเสี้ยวขาวหรือนางพญาเสือโคร่ง หากแดดลัดลอดกลีบเมฆเพียงไม่กี่ชั่วโมง นั่นอาจเป็นห้วงยามแห่งความผ่อนคลาย อบอุ่น

          สองสามวันที่นี่ หลายคนคล้ายสอนให้ผมรู้ว่ารอยล้อของโลกแห่งความเป็นจริงนั้น เคลื่อนหมุนและเหนี่ยวนำทุกชีวิตให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างแทบไม่รู้ตัว หากใครจะยึดเหนี่ยวสิ่งใดไว้อาจเป็นได้แค่ความทรงจำ ชีวิตล้วนมีห้วงตอน หนักหน่วง บางเบา เปี่ยมสีสันเคลื่อนไหว หรือเรียบง่ายสงบงาม เช่นนั้นเอง...ทุกนาทีอันผันเปลี่ยนของพวกเขา เหนือแดนดอยอันไกลห่าง หากใครสักคนจะฝากฝังสิ่งใดไว้ให้ผืนดินที่เหยียบยืน สิ่งนั้นอาจมีค่ามากไปกว่าการดำรงชีวิต

บ้านมณีพฤกษ์

          1. บ่ายฉ่ำฝนเปลี่ยนทางดินที่ลัดลงไปตามไหล่ดอยให้ยากยิ่งสำหรับการเดินทาง รถขับเคลื่อนสี่ล้อของพี่น้องชาวม้ง พูนเพียบด้วยกะหล่ำปลีเรียงหัวสวนออกมาไม่ขาดสาย

          ภูเขาเปลี่ยนแปลงตัวเองมาตามวันเวลาและการอยู่กินรอบด้านของบ้านมณีพฤกษ์ และโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ที่ 6 จังหวัดน่าน คือภูเขาที่เคยเป็นมากกว่าภูมิประเทศสูงชัน ที่นี่คือบ้านของผู้คนม้งและลัวะ แดนดินกลิ่นควันปืน และความแปลกแยกแตกต่างของอุดมการณ์การเมือง

          "เราอยู่มาเมินละ ก่อนยุคสู้รบ ผ่านมาถึงตอนนี้ก็รุ่นหลานกันแล้ว" เฒ่าชาวม้งเปรยเบา ๆ กลางสายฝน บนไหล่เขาที่เคยเต็มไปด้วยคืนวันแห่งการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาล กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อย่างที่รู้กันทั่วไป พื้นที่ดงดอยแทบทั้งหมดของจังหวัดน่าน คือ ดินแดนที่เคยถูก "ปลดปล่อย" ออกจากการเข้าถึงของรัฐ ในห้วงยามราว 40 ปีที่ผ่านมา ผู้คนไทยภูเขาทั้งม้ง ลัวะ หรือเกษตรกรผู้ทุกข์ยากในอดีต ล้วนมีประวัติศาสตร์ไม่แตกต่าง คือ เคยเข้าร่วมกับ พคท.ด้วยแรงขับจากความทุกข์ยากและความเหลื่อมล้ำ

          ตั้งแต่บ้านมณีพฤกษ์ไล่ลงไปจนถึงข้างล่าง ตามแนวเทือกเขาภูคาป่าแดง คือ พื้นที่เก่าในฐานที่มั่นน่านเหนือเขต 1 ซึ่งเรียกรวมกันง่าย ๆ ว่าเขตภูแว บ้าน "ฉงผ้า" หรือ ฉงไผ่ ในอดีตคือเขตปลดปล่อยแห่งแรกของ พคท.นับแต่นั้นพื้นที่คืนขยายของการสู้รบและประกาศความ "มีตัวตน" ของคนข้างบนนี้ก็กว้างไกลออกไปทั่วทิวดอย บางอย่างในป่าส่งผลออกมาเป็นความคิด ความเชื่อสู่สิ่งที่ดีกว่า และชีวิตตามเทือกเขา คือ สิ่งหลงเหลือจากประวัติศาสตร์ หลังนโยบายการเมืองนำการทหารในปี พ.ศ. 2523 เสียงปืนสงบลงพร้อมการหักเห ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแดนดินที่เคยย่ำเดินตรวจตรา ให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูก
 
          "หลังมอบตัว รัฐให้เราทำกิน เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านไปหลายแห่ง" สลับกับข้าวดอยที่กระจายกันตามแนวขั้นบันได เราเดินไปตามแนวไร่กะหล่ำ บางผืนถูกแซมด้วยขิง ซึ่งว่ากันตามตรงหลายคนเป็นห่วงเรื่องคุณภาพดิน จากการต้องเปลี่ยนเวียนพื้นที่ปลูกขิงไปเรื่อย ๆ

          "เขาอยู่มาก่อนครับ เราเองขึ้นมาทีหลัง" ออกจากไร่กะหล่ำ เราเลาะสันดอยไปกับ ทวี เขื่อนคำ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา การงานของคนที่เข้ามาดูแลพื้นที่ป่าเขาอันซ้อนทับอยู่บนต้นน้ำของแม่น้ำน่านนั้นอีกยาวไกล

บ้านมณีพฤกษ์

          "ข้างบนนี้หากนับแบบวิชาการป่าไม้ ถือเป็นระดับ 1A เลยนะครับเป็นป่าต้นน้ำยม น้ำน่าน" ทางยากขึ้นระหว่างเขาพาเราไปเยือน น้ำตกน้ำเปิน แหล่งน้ำกินใช้ที่สมบูรณ์ชุ่มตลอดปี และเพื่อจะพบว่าหนทางยากลำบากยิ่งในฤดูฝนทำให้เราไม่อาจเข้าถึง ทิวดอยสลับล้างไปด้วยไอหมอกแห่งวันฝน แปลงเพาะปลูกพืชตัวอย่างของโครงการฯ เต็มไปด้วยกล้าพันธุ์นานา ทั้งกาแฟ ท้อ พืชผัก ผลไม้เมืองหนาว

          "เราส่งเสริมเคียงคู่กันไปกับงานอนุรักษ์ของทางอุทยานฯ" รัตน์สิน ศิริรัตน์ รองหัวหน้าของโครงการฯ เล่าถึงการงานของพวกเขาท่ามกลางพื้นที่ราว 70,740 ไร่ ที่เป็นป่าต้นน้ำ การเข้ามาอยู่ร่วมและทำให้คนข้างบนนี้เห็นค่าของผืนดินที่พวกเขาเรียกว่าบ้านนั้น ดูเหมือนพืชพรรณจะเป็นคำตอบมากกว่าการพูดคุย

          "หลัก ๆ เราส่งเสริมกาแฟก่อน ให้ปลูกแทรกไปเป็นสวนในป่าทางโครงการฯ พยายามหาตลาดให้ รับซื้อทุกเกรด" บ้านมณีพฤกษ์ทั้ง 3 หมู่ รายล้อมอยู่ด้วยไร่กะหล่ำและข้าวโพด ซึ่งหากจะมองกันให้ยืดยาว พืชที่ชาวบ้านเลือกเป็นทิศทางยังชีพมาเนิ่นนานนั้นอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง

          "มันใช้สารเคมีมากครับ และต้องเปลี่ยนเวียนไปเรื่อย ๆ ไหนจะเรื่องเผาถางตอนหน้าแล้งอีก" รัตน์สินว่างานของทางโครงการฯ ที่เริ่มมากว่า 8 ปีนั้นคล้ายเพิ่งเริ่มต้น หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล ภายในพื้นที่ของโครงการฯ นั้นมากไปด้วยความร่มรื่นชื่นเย็น บางวันระหว่างรอฝนซา ผมมักแวะเวียนเข้าไปตามแปลงเพาะต้นกล้ากาแฟ นั่งดูคนงานชาวลัวะตระเตรียมดิน หรือไม่ก็ผ่านพาตัวเองไปกับเรื่องเล่าถึงชีวิตตามป่าดอยของพวกเขา เท่าที่การสื่อสารทางภาษาจะอำนวย

          หนทางของหลายคนเริ่มต้นขึ้นที่นี่ จากโรงเรือนและกล้าพันธุ์หน่วยเล็ก ๆ เพื่อความเติบโตเขียวครึ้มของป่าอันเป็นบ้านของพวกเขา เทียบกับการเดินทางยาวไกลข้ามภูเขาจากยุคบรรพบุรุษ ต่อสู้ดินรนและไถ่ถามหาความเป็นธรรมผ่านการสู้รบ ข้ามพ้นการได้รับแผ่นผืนดินที่เรียกว่าที่ฝังกาย หนทางก้าวเดินของพวกเขาในทุกวันนี้คล้ายจะมีทิศทางมากขึ้น เต็มไปด้วยการดูแลและส่งเสริมจากหลากหลายกำลังใจ

          "อย่างไรมันก็เป็นบ้านของพวกเขาครับ พวกผมมาแล้วก็มีแต่วันจะกลับลงไป" รัตน์สินพูดเบา ๆ ในโรงเรือน หมอกฝนไหลผ่านเนื้อตัว อากาศหม่นเทาคืบคลุม ดูเหมือนหนทางก้าวไปข้างหน้าจะรอคอยพวกเขาอยู่เมื่อผ่านหมอกละลายหาย

บ้านมณีพฤกษ์

          2. เนินเขาไล่สลับสูงต่ำของบ้านมณีพฤกษ์ หมู่ที่ 1 ไม่เคยขาดหายสีสัน แม่เฒ่าในชุดปักผ้าลายสวย เด็ก ๆ กระจองอแงแต่เช้า หลังพระสงฆ์ไม่กี่รูปจากวัดป่าที่อยู่ถัดขึ้นไปจากตัวโครงการฯ ย่ำเท้าเข้ามาสู่หมู่บ้านห้วงยามแห่งความง่ายงามมีให้ใครสักคนได้เห็นการผสมผสานทางความคิดความเชื่อ เป็นภาพยามเช้าที่อิ่มเอม

          แดดอุ่น ๆ เปลี่ยนเข้าอ้อยอิ่งให้เคลื่อนไหว เฒ่าชรานั่งมองลูกหลานที่เริ่มโตเดินลับไปสู่โรงเรียนมณีพฤกษ์ ผ่านควันชาร้อนที่ลอยคลุ้ง ชีวิตเป็นสุขอาจไมได้อยู่ที่ดอกผลของการค้าตามที่ชาวม้งถนัดแ ละเปลี่ยนมันให้เป็นชีวิตที่ดีขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา

บ้านมณีพฤกษ์

          "เหมือนกับทุกคนนั่นละ ลูกหลายอยู่ร่มเย็น โตใหญ่ มีการศึกษาเท่าเทียม" ใครสักคนตรงนั้นบอกเราด้วยน้ำเสียงเย็นเนิบ ผ่อนคลายคล้ายแดดในยามเช้า

          เราตามพวกเด็ก ๆ ไปที่โรงเรียนแห่งเดียวบนเนินดอย ที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา วันนี้ครูอาสาชาวอเมริกันเพิ่งเดินทางมาถึง เกษญากร เขื่อนคำ เจ้าหน้าที่ประสานงานของโครงการฯ รับหน้าที่พี่เลี้ยงไปโดยปริยาย เด็กนักเรียนชั้นเล็ก ๆ ดูจะตื่นเต้นเป็นพิเศษ ท่าทางยุกยิกโลดโผนลดหายไปกว่าครึ่งในสายตาครูประจำอีกหลายคน

บ้านมณีพฤกษ์

บ้านมณีพฤกษ์

          "เรามีลูกหลายชาวม้งที่ลงไปเรียนจบปริญญาตรีข้างล่าง และกลับขึ้นมาเป็นครูที่มณีพฤกษ์อยู่ไม่น้อย" ผู้อำนวยการเสกสรร ใจประสงค์ เปรยในวันที่หน้าแถวเคารพธงชาติเต็มไปด้วยเสียงเซ็งแซ่ อาคารเรียนหลังเล็ก ๆ เรียงรายล้อมเนินเขาลูกหนึ่งไว้อย่างเหมาะเจาะ รายรอบมองออกไปไกลคือทิวดอยที่เรียงตัวอยู่ในม่านฝน หากเป็นฤดูหนาวที่อากาศเย็นเยียบจับใจ พืชพรรณรายล้อมผ่านพ้นการเก็บเกี่ยว

          ตามบ้านเรือนในหมู่ที่ 1 ของบ้านมณีพฤกษ์จะเต็มไปด้วยเหล่าผู้หญิงและงานปักผ้า ลวดลายการปักของพี่น้องชาวม้งนั้นแสนน่าทึ่ง ทั้งรูปแบบและฝีเข็ม ข้าวของกระจุกกระจิกจะกลายเป็นสินค้าน่าซื้อหาเมื่อผู้มาเยือนฝ่าความสูงขึ้นมาทำความรู้จักบ้านกลางแดนดอย

          วันทั้งวันที่หมู่ 1 ไม่เคยเงียบเหงา สารทุกข์สุกดิบถูกไถ่ถามตามการขึ้นลงระหว่างข้างบนและข้างล่าง เด็กหนุ่มพาเรื่องเล่าและความเติบโตของชีวิต มาสู่ผู้เฒ่าปู่ย่าที่กรุยทางและก่อร่างการมีอยู่ของพวกเขามาเนิ่นนาน ชีวิตบนหุบเขาล้วนเปลี่ยนแปลงไม่แตกต่าง ความเท่าเทียมที่ใครหลายคนในอดีตเสาะแสวงหาล้วนมีหน้าตาให้สัมผัสได้ ห้วงยามเช่นนี้ เทือกดอยดูสงบนิ่ง แม้ลมแรงจะกระหน่ำหนักในต้นฤดูฝน

บ้านมณีพฤกษ์

          3. ภูแว...เสียดยอดขึ้นไปในม่านเมฆ เมื่อใครสักคนเฝ้ามองมันจากบ้านมณีพฤกษ์ หมู่ที่ 2 และ 3 ฟากด้านของคืนวันเปลี่ยน การเดินขึ้นดอยของพี่น้องคนลัวะให้เหลือเพียงการหาของป่าเพื่อกินอยู่ หาใช่ใช้เส้นทางภูเขาเพื่อเชื่อมโยงสงครามของอุดมการณ์ให้ดำเนิน

          ข้าวดอยที่ปลูกเพื่อกินชูยอดอ่อนอยู่ตามไหล่ดอย ปลายตาคือกระท่อมที่ไม่เคยห่างหายควันฟืน บ้านเรือนตามถนนมีไว้สำหรับเด็ก ๆ และผู้เฒ่าผู้แก่ คน "วัยทำงาน" มักจ่อมจมอยู่ในโลกใบเล็กตรงแปลงเกษตรเสียมากกว่า หรือไม่ก็หายไปอยู่ตามสวนกาแฟที่เริ่มเติบโต มีทิศทาง พี่น้องชาวลัวะของดอยมณีพฤกษ์นั้นชัดเจนอยู่ด้วยภาษาและการแต่งกาย รวมไปถึงความคิดความเชื่อของพวกเขา ตามแต่บรรพบุรุษที่โยกย้ายตัวเองมาจากแถบไชยะบุรีของ สปป.ลาว จนมีการแยกย่อยตามภาษาออกเป็น "ลัวะไปร" และอีกกลุ่มที่กระจายอยู่ตามเทือกดอยอย่าง "ลัวะมัล"

          "ไม่เหมือนลัวะทางเชียงใหม่นะครับ บางคนเรียกชาวถิ่น แต่ปู่ย่าว่ามันเหมือนดูถูก" วิโรจน์ ยอดอ่อน บอกที่มาในสายเลือดของเขาคร่าว ๆ กลางสวนกาแฟที่เพิ่งลงแรงไปหลังจากข้าวเกือบ 50 ไร่ตีนดอยเพิ่งผ่านพ้นการปักดำ

          เราเดินตามเขาไปในโลกการเกษตรที่โอบล้อม ชีวิตดูจริงแท้อย่างที่มันควรจะเป็น ชีวิตที่ขับเคลื่อนอยู่ด้วยฤดูกาลและสองมือ นอกเหนือไปจากพืชไร่ การเข้าป่าของพวกเขามีเหตุผลมากไปกว่าล่าสัตว์อย่างที่บรรพบุรุษเชี่ยวชาญ ป่ากับบ้านดูเหมือนจะหลอมรวมอยู่

          "ไปดูสวนกาแฟที่ปลูกแซมอยู่ในนั้นครับ" สายพันธุ์อะราบิกาที่แรกเริ่มกำลังเติบใหญ่ ออกผลมาแล้วหลายรุ่น ภูเขาหลายลูกเริ่มพลิกเปลี่ยน ไร่กะหล่ำและขิงอาจเคยเป็นหนทางทำกิน หากเมื่อมันไม่ยั่งยืน บางคนก็เริ่มทำความเข้าใจว่าบ้านของพวกเขาต้องการสิ่งใด

บ้านมณีพฤกษ์

          วันทั้งวันเราจมอยู่ในโลกการเกษตรของคนบ้านมณีพฤกษ์ สวนท้อไหน และสาลี่ มากมายไปด้วยการดูแลในระยะ "แรกเริ่ม" ทิศทางของผู้ที่อยู่กับภูเขาเริ่มแจ่มชัดกว่าวันวาน "ที่นี่เหมาะกับกาแฟมากครับ" คาเล็บ จอร์แดน บอกผมในบ่ายวันหนึ่งที่โรงคั่วเล็ก ๆ และบ้านกลางดอยมณีพฤกษ์ของเขาอันมีเพื่อนบ้านเป็นชาวลัวะหมู่ที่ 2 ภาษาไทยของเขาชัดถ้อย คำเมืองหรือภาษาลัวะก็ชัดเจนจนผมทึ่ง

          "บ้านของผมอยู่ที่นี่" จากครอบครัวมิชชันนารีอเมริกัน เขาเกิดที่ปัว เรียนประถมศึกษาที่ทุ่งช้าง ท่ามกลางเพื่อนฝูงหลากชาติพันธุ์ ครั้นจากไปเรียนวิศวกรรมที่สหรัฐอเมริกาและหลงใหลการคั่วกาแฟ คาเล็บกลับพบว่าไม่มีที่ใดเหมาะกับเขาเท่ากับภูเขาของเมืองน่าน

          วันที่เขา "เลือก" จะเรียกมณีพฤกษ์ว่าบ้าน อาจไม่ใช่แค่ความสูงและอากาศหนาวเย็นที่เหมาะกับการปลูกและศึกษาทดลองสายพันธุ์ หากแต่มิตรภาพที่ได้รับมันคล้ายคลึงกับยามเยาว์ "อยู่กับเหมือนพี่น้อง ผมเอาสายพันธุ์ต่าง ๆ มาทอดลองปลูก ก็ได้คนที่นี่คอยช่วย" เขาว่าเช่นนั้นยามที่มุนโดโนโว สายพันธุ์แยกย่อยของอะราบิกาถูกคั่วจนหอมฟุ้ง

          คาเล็บฝากฝังตัวเองบนบ้านไม้ที่มีป่าทึบเป็นฉากหน้าในยามเช้า และผูกพันกับคนมณีพฤกษ์ด้วยกาแฟ ทั้งคาร์ติมอร์ ทิปิกา กัวเตมาลาเคียงคู่กับการทำงานร่วมกับโครงการฯ ในเรื่องกล้าพันธุ์ "เรื่องไม้บังร่มนี่สำคัญมาก เดินได้คู่กับการอนุรักษ์" เขาว่าการปลูกกาแฟในรูปแบบแซมอยู่ชายป่านั้นยิ่งดี ลดการแผ้วถาง เดินหน้าควบคู่กับทิศทางของอุทยานฯ

          การเดินร่วมกันของชีวิตมณีพฤกษ์เต็มไปด้วยความงดงาม พี่น้องชาวไทยภูเขาปลูกกาแฟ ฝากฝังดอกผลของการเติบโตไว้ที่คนคั่วกาแฟที่หลงรักผืนแผ่นดินเช่นเดียวกัน ขณะที่หน่วยงานทางภาครัฐอย่างอุทยานแห่งชาติและโครงการฯ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ก็ได้รับการตอบรับเรื่องการดูแลพื้นที่ต้นน้ำ

บ้านมณีพฤกษ์

          "เรามีแบรนด์ของเราเอง "กาแฟมณีพฤกษ์" มากไปด้วยเรี่ยวแรงของคนที่นี่" คาเล็บว่าเขารับดูแลเรื่องการหาตลาด คั่วด้วยความเข้าใจและพิถีพิถัน เช่นนั้นเอง "ก้าวใหม่" ของพวกเขาจึงหอมหวนคล้ายกาแฟดี ๆ สักแก้ว ทุกวันผมมักมาที่นี่ ที่บ้านของเขากับลูกเล็ก ๆ อีก 2 คน กาแฟกรุ่นหอม ชงด้วยวิธีพิเศษ แวดล้อมอยู่ด้วยมิตรภาพและสายสัมพันธ์ของผู้คนอันผสมกลมกลืน

          ยามเย็นเรามักถือแก้วกาแฟออกมามองภาพตรงหน้า ที่ซุกซ่อนอยู่ในป่าเขา ภาพแห่งความสุขอันจริงแท้อันยากจะมองเห็นหากไม่ใช้ชีวิตอยู่กับมันอย่างตรงไปตรงมา

บ้านมณีพฤกษ์

บ้านมณีพฤกษ์

          4. ทางฉ่ำขึ้นเดินโลนพาเราขึ้นสู่ยอดดอยผาผึ้งในเช้ามืดวันหนึ่งเหนือความสูงกว่า 1,500 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง หมอกฝนห่มคลุมทุกทิศทาง อากาศฉ่ำเย็นโอบอุ้มเนื้อตัว แนวหินตามเนินผายื่นไปในความสูงลิบลิ่ว

          "หน้าหนาวคนเต็มไปหมดครับข้างบนนี้ เห็นทิวเขาซ้อนสลับไปถึงเมืองลาวโน่น" หลังจากพันโซ่ที่ล้อและโขยกโฟร์วีลผ่านทางยาก วิโรจน์ ชวนเราขึ้นสู่ยอดดอยกลางการลื่นไถลของทางดินหมาดฝน ที่นี่เคยเต็มไปด้วยเหล่าทหารทั้งของ พคท.และภาครัฐ

          "ตอนนั้นช่วงยุทธการทุ่งช้าง บนนี้เต็มไปด้วยเสียงปืนและความเสี่ยง" เขาหมายถึงหนึ่งในความแปลกแยกแตกต่างที่รับรู้มาตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อลงจากยอดดอยผาผึ้งในสายที่แดดละลายหมอกฝน เราเวียนแวะไปตามโถงถ้ำและไร่สวนอีกหลากหลาย คล้ายบ้านของพวกเขามีแง่มุมให้ทำความรู้จักไม่รู้จบสิ้น หากใครสักคนจะยอมรับถึงการมีอยู่ของกันและกัน กลางภูมิประเทศแปลกตา ชีวิตกลับดูเล็กน้อยกระจิริด หากเทียบกับโลกใบใหญ่ที่โอบอุ้มเราอยู่

          เช่นนั้นเอง...สำหรับพวกเขาพื้นที่หยัดยืนสักแห่งหนึ่งกลางดินแดนอันแสนอุดมชุ่ม จึงมากมายไปด้วยการทำความเข้าใจ พร้อมจะดูแลหวงแหนมันเอาไว้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

บ้านมณีพฤกษ์

คู่มือนักเดินทาง

          โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ที่ 6 จังหวัดน่าน (บ้านมณีพฤกษ์) (N19.25432 E101.04031) ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน คือ พื้นที่ส่งเสริมการเกษตรที่สูงซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้คนกับภูเขาอยู่ร่วมกันในพื้นที่ต้นน้ำน่านอันแสนบริสุทธิ์ ตัวโครงการฯ ตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่ภูเขาของดอยมณีพฤกษ์งดงาม อากาศหนาวเย็นตลอดปี มากมายด้วยแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และชีวิตวัฒนธรรม

การเดินทาง

          จากอำเภอเมืองฯ จังหวัดน่าน ไปยังโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ที่ 6 จังหวัดน่าน (บ้านมณีพฤกษ์) ใช้ทางหลวงหมายเลข 1080 ผ่านอำเภอท่าวังผา ปัว เชียงกลาง ถึงทางแยกที่บ้านนาหนุน (เขตอำเภอเชียงกลาง) ระยะทางประมาณ 72 กิโลเมตร จากนั้นแยกขวาใช้ทางหลวงชนบทหมายเลข 1291 ที่แยกบ้านนาหนุน ไปอีกประมาณ 14 กิโลเมตร ถึงทางแยกบ้านกอก แยกซ้ายไปอีกระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ถึงทางแยกบ้านกอก แยกซ้ายไปอีกระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ถึงที่ทำการโครงการฯ ใช้เวลาในการเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที

ที่หลับที่นอน

          ภายในโครงการฯ มีบ้านพักและลานกางเต้นท์ให้บริการ

กินอิ่ม

          ร้านค้าสวัสดิการของโครงการฯ มีอาหาร ขนม รวมไปถึงพืชผักเมืองหนาวตามฤดูกาลให้บริการ

          ภายในบ้านมณีพฤกษ์ หมู่ที่ ๑ มีร้านอาหารตามสั่งง่าย ๆ ของพี่น้องม้งเปิดขายในตอนกลางวัน

          หากต้องการปรุงอาหารเอง แนะนำให้หาซื้อของสดของแห้งที่ตลาดปัวหรือตลาดเชียงกลาง ซึ่งค่อนข้างมีให้เลือกมากมายหลายประเภท

บ้านมณีพฤกษ์

เดินป่า

          ระยะเวลาในการเดินทางตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ถึง 1 วัน
          ชมความงามตามธรรมชาติที่สูงจากระดับความสูงเฉลี่ย 1,252 เมตร
          สัมผัสความหนาวเย็นและวิวสวยงามของดอยผาผึ้ง
          เส้นทางศึกษาธรรมชาติสายป่าก่อ ระยะทาง 900 เมตร
          เส้นทางชมถ้ำและฐานปฏิบัติการทางทหาร สายถ้ำผาผึ้งฐานปฏิบัติการ-ภูหัวล้าน
          เส้นทางสายถ้ำหอหญิง-ถ้ำหอชาย-ถ้ำจำปี และน้ำตกห้วยงัด
          เส้นทางชมดอกชมพูภูคา (บานดอกราวเดือนกุมภาพันธ์)
          เส้นทางสายถ้ำน้ำดั้น
          เดินป่าเที่ยวน้ำตกน้ำเปินและค้างคืนบนยอดดอยภูแว

ขี่จักรยาน

          มีเส้นทางรอบพื้นที่โครงการเชื่อมต่อระหว่างบ้านมณีพฤกษ์ หมู่ที่ 1 (บ้านม้ง)-บ้านมณีพฤกษ์ หมู่ที่ 2 และ 3 (บ้านลัวะ) ระหว่างเส้นทางงดงามด้วยแปลงข้าวและพื้นที่การเกษตรตามหุบดอย รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนอันมีสีสัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

          โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ที่ 6 จังหวัดน่าน (บ้านมณีพฤกษ์) โทรศัพท์ 08 1602 2731 และสำนักงานเกษตรอำเภอทุ่งช้าง โทรศัพท์ 0 5479 5109


ที่มา https://travel.kapook.com/view47433.html