อลังการดอกชมพูภูคาบาน เดินถ้ำ-ขึ้นดอยผาผึ้ง ชิมสตรอเบอร์รี จิบกาแฟเดอม้ง บ้านมณีพฤกษ์

โดย Pleng Phantakarn
@2019-02-04 01:38:25

บ้านมณีพฤกษ์ ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน
จากสมรภูมิสู้รบในอดีต สู่สถานที่ท่องเที่ยวในวันนี้ มีนักท่องเที่ยวมากมายเดินทางไปเยี่ยมเยือน สัมผัสอากาศหนาว ชมวิถีชนเผ่าบนขุนเขาดอยสูงแห่งนี้ จากตัวเมืองน่าน สู่เส้นทางสายเหนือของจังหวัดน่าน ทางหลวงแผ่นดิน 101 ผ่านอำเภอท่าวังผา ที่ถนนหนทางกำลังก่อสร้างเกือบจะแล้วเสร็จ เพื่อรองรับความเจริญ และเปิดรับ AEC ในอนาคตข้างหน้า

เข้าอำเภอปัว ที่วันนี้ตัวเมืองขยายตัวไปมากมีโรงแรมที่พักผผุดขึ้นหนาตากว่าเมื่อสามสี่ปีก่อน ถึงอำเภอเชียงกลาง เขตตำบลเปือ ที่บ้านนาหนุน กม. 79 – 89 เลี้ยวขวามือ ใช้เส้นทางหลวงชนบท 4023 ระยะทางประมาณ 16 กม. ไปบ้านกอก พื้นที่ตำบลพระธาตุ อำเภอเชียงกลาง เส้นทางไต่เขาสูงไล่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ผ่านหมู่บ้านพื้นที่ล่างขึ้นสู่หมู่บ้านบนดอย รถสัญจรไป-มา มีไม่มาก นานๆครั้ง
ทางเข้าเส้นทางเขตของอำเภอเชียงกลาง กำลังก่อสร้างและบางช่วงลาดยางใหม่ ต้องใช้ความระมัดระวัง  ถึงบ้านกอกแยกไปบ้านปางแก เข้าเขตอำเภอทุ่งช้าง ทางหลวงชนบทได้ลาดยางเสร็จไปบางช่วง อย่าประมาทเผลอขับขี่รถด้วยความไม่ระมัดระวัง เพราะพอเข้าเขตบ้านมณีพฤกษ์ เป็นหลุม เป็นบ่อ ขรุขระ เนื่องจากรถบรรทุก พืชผลผลิตทางการเกษตรเข้า-ออก ในช่วงหลังการเพาะปลูก ทรุดโทรมไปมาก

เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่อยู่ของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง และลัวะ(ถิ่น) และเคยเป็นสนามสู้รบในสมัยที่ยังมีความขัดแย้งทางความคิด และ การเมือง ต่อมาได้มีการเข้ามาพัฒนาและส่งเสริมอาชีพต่างๆให้ชาวไทยภูเขา โดยโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในลุ่มแม่น้ำน่าน อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ (พมพ.) บ้านมณีพฤกษ์
หมู่บ้านเดิมชื่อว่า “บ้านฉงผ้า หรือ ฉงไผ่” เป็นชาวม้งซึ่งอพยพมาจากประเทศจีน เพราะสมัยนั้นจีนเกิดสงครามจึงต้องเร่ร่อนหาที่ทำกิน ครั้นเมื่อเดินทางมาถึงตอนเหนือของประเทศไทย จึงเห็นว่าภูมิประเทศมีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก จุดแรกที่เข้า คือ ดอยภูแว จังหวัดน่าน ต่อมาตั้งบ้านเรือนเป็นหลักเป็นแหล่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ อยู่ห้างจากดอยภูแวที่ตั้งเดิมประมาณ 10 กิโลเมตร และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ฉงผ้า หรือ ฉงไผ่” อยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ในช่วงปี พ.ศ. 2511 ถึงปี พ.ศ.2525 ต่อมามีนายทหารชื่อ “พ.ท.อนัน พฤกษ์” กัลป์นายตำรวจชื่อ “มณี” ไม่ทราบนามสุกลได้วางแผนปราบปราม ฝ่ายคอมมิวนิสต์ จนได้รับชัยชนะ ชาวบ้านได้เข้ามอบตัวกับทางราชการ ในปี พ.ศ. 2527 และเปลี่ยนชื่อจาก “บ้านฉงผ้า” หรือ “ฉงไผ่” เป็น “มณีพฤกษ์” โดยใช้ชื่อนายตำรวจและนามสกุลของนายทหารสองท่านนั้นมาจนถึงปัจจุบัน

โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในลุ่มแม่น้ำน่าน อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ พื้นที่ที่ 6 จังหวัดน่าน

หมู่บ้านมณีพฤกษ์ ได้รับการส่งเสริมปลูกพืชผักและดอกไม้เมืองหนาว และบางส่วนประกอบอาชีพในการปลูกกระหล่ำปลี ส่งขายออกต่างจังหวัด
และสร้างชื่อขึ้นมาควบคู่ไปกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย เช่น ถ้ำผาผึ้ง, สมรภูมิผาแดง, ดอยผาผึ้ง และโดยเฉพาะต้นชมพูภูคา ซึ่งที่นี่นับเป็นอีกแห่งหนึ่งที่สามารถชมต้นไม้หายากชนิดนี้ได้ ซึ่งในอดีคเชื่อกันว่าพบเห็นได้เฉพาะที่ดอยภูคา แต่ต่อมาภายหลังมีการค้นพบขึ้นกระจายอยู่ตามป่าสูง ในพื้นที่จังหวัดน่าน
ช่วงต้นปีที่อากาศยังหนาวเย็น หลังเทศกาลปีใหม่ม้ง ที่จะจัดกันประมาณ มกราคม – กุมภาพันธุ์ ของทุกปี ยังมีดอกท้อบานให้เห็นอยู่บ้าง หากมาก่อนหน้านี้ช่วงปีใหม่สากล ตรงกับกับช่วงดอกนางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทย ออกดอกพราวสีชมพู เต็มหุบเขา สวยงามมาก จะบานน้อย บานมากขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและความหนาวเย็นในแต่ละปี

หมู่บ้านจงไผ่ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของ หมู่บ้านมณีพฤกษ์ ได้เข้าร่วมเป็นฐานที่มั่นในเขตน่านเหนือของเหล่าสหายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) พอฐานที่มั่นถึงกาลล่มสลายในปี พ.ศ. 2526 ชาวบ้านมณีพฤกษ์ก็ปักหลักตั้งบ้านเรือน ณ จุดเดิมที่บรรพบุรุษเคยอยู่อาศัย พวกเขาสร้างหมู่บ้านถาวรมา 23 ปีแล้ว

บ้านมณีพฤกษ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเกษตร ที่ตั้งของพัฒนาเพื่อความมั่นคงในลุ่มแม่น้ำน่าน อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ พื้นที่ที่ 6 จังหวัดน่าน ส่งเสริมให้ปลูกผลไม้เมืองหนาว เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้ง และ เผ่าลั๊วะ สิ่งที่น่าสนใจคือโครงการนี้ ตั้งอยู่บนเทือกดอยภูคา พบต้นชมพูภูคาอยู่หลายกลุ่มหลายต้น และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทั้งเชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมหลายๆ ด้าน

 

ถ้ำผาผึ้ง อยู่ระหว่างเส้นทางไปหมู่บ้านมณีพฤกษ์ 1 ห่างจากสำนักงาน พมพ. ประมาณ 1 กิโลเมตร ทางเข้ามีป้ายบอกเส้นทาง ห่างจากจากถนน 100 เมตร เดินตัดผ่านไร่สวน พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เข้าสู่ป่าดิบ มีต้นเต่าร้างขึ้นอยู่ตลอดทาง ปากถ้ำผาผึ้งกว้างประมาณ 40 เมตร สูงประมาณ 20 เมตร 

ถ้ำผาผึ้ง ต้องเดินลงไปอีก 25 เมตรจึงถึงพื้นถ้ำ เส้นทางทรุดโทรม เนื่องจากช่วงฤดูฝน น้ำจะไหลลงมาจากลำห้วย เข้ามายังถ้ำ กัดเซาะทางเดิน บันไดคอนกรีตพังเสียหายไปมาก ช่วงต้นของถ้ำจะเป็นโถงขนาดใหญ่มากสูงประมาณ 20 เมตร จะมีน้ำย้อยไหลลงมาจากเพดานถ้ำตลอด จนเกิดเป็นชั้นหิน มองดูเหมือนน้ำตก ไหลต่อลงไปเรื่อยๆและยังมีหินย้อยที่สวยงาม เดินเข้าไปข้างในจนสุดถ้ำเป็นระยะทางประมาณ 400 เมตร ยังมีอากาศหายใจอยู่ บริเวณปลายถ้ำจะมีช่องซึ่งกว้างประมาณ 20-30 เซนติเมตร ในสมัยก่อนถ้ำผาผึ้งแห่งนี้ ใช้เป็นที่หลบภัยของชาวบ้าน ในการสู้รบระหว่างรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

การเดินดูถ้ำผาผึ้งมีข้อจำกัดหลายๆ เรื่อง ทั้งเส้นทาง และแสงสว่างภายในถ้ำ และตัวถ้ำที่มีขนาดลึก ต้องใช้การโรยตัวจากด้านบนลงไป ต้องใช้ความชำนาญและเครื่องไม้เครื่องมือจากมืออาชีพ ในการสำรวจต่อไป
จากถ้ำผาผึ้ง ใช้เส้นทางเดิมไปยังบ้านมณีพฤกษ์ เลี้ยวขวาเข้าสู่พื้นที่ปลูกป่า ไร่กาแฟ เส้นทางสู่ ดอยผาผึ้ง 

ผืนป่า ด้านล่างดอยผาผึ้ง บ้านมณีพฤกษ์ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน

กว่า 5 กม. ทางลูกรังบนภูเขา ในช่วงหน้าฝน ไม่สามารถนำรถขึ้นได้เอง เนื่องจากมีความลาดชัน และลื่น ในช่วงหลังๆ มีกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านมณีพฤกษ์ ให้บริการรถรับ-ส่ง ขึ้นลงบนดอยผาผึ้ง สามารถติดต่อแจ้งล่วงหน้าก่อนการเดินทาง
ระยะทางกว่า 5 กม. ใช้เวลา 30 นาที จากหมู่บ้าน ถึงลานจอดรถ ลงเท้าเดินอีก 20 นาที ถึงยอดดอยผาผึ้ง

สำหรับ ดอยผาผึ้ง เป็นภูเขาหินปูนสูงจากระดับน้ำทะเล 1,600 เมตร ซึ่งไม่มีต้นไม้ใหญ่มากนัก ส่วนมากจะเป็นทุ่งหญ้าคา มีลักษณะเหมือนดอยภูแว ในช่วงหน้าหนาวสามารถชมบรรยากาศพระอาทิตย์ขึ้นและตกได้อย่างสวยงาม
เส้นทางสู่ ดอยผาผึ้ง ได้รับการพัฒนาจากกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านมณีพฤกษ์ มีการปักป้ายแนะนำเส้นทาง แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวในจุดเสี่ยง และเป็นอันตราย

 

ดอยผาผึ้ง ในช่วงกลางวัน สามารถองเห็นทัศนียภาพของอำเภอทุ่งช้าง, อำเภอบ่อเกลือ, อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และหากอากาศดี ท้องฟ้าเปิด ยังมองเห็นโรงไฟฟ้า ในเมืองหงสา สปป.ลาว ด้วยภูมิประเทศเป็นหน้าเทือกเขาหินปูน สูงชัน เบื้องล่างเป็นผืนป่าดิบกว้างใหญ่ ไปจรดเขตติดต่อหลายอำเภอ อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา สามารถเห็นสันดอยภูแวและดอยช่อได้ หากเดินไปยืนบนภูอีกลูก สามรถมองย้อนกลับไปเห็นหมู่บ้านมณีพฤกษ์ได้

จากดอยผาผึ้งกลับออกมาอีกเส้นทาง ออกไปทางบ้านมณีพฤกษ์ 2 แวะไร่สตรอเบอร์รี ของครูนพรัตน์ จิตอารี ที่กำลังออกลูกสวยงาม ในไร่ริมไหล่เขา บ้านมณีพฤกษ์ 2 ที่ใช้เวลาว่าง จากการสอน กับครอบครัวปลูกบ้านหลังเล็กๆ ทำไร่สตรอเบอร์รี มีให้เก็บทุกวัน ท่ามกลางขุนเขา ฉากหลังของดอยภูแว รับลมเบาๆ แสงแดดอ่อน ชมวิวทิวเขา ก่อนที่จะเดินทางไปเยี่ยมชมดอกชมพูภูคา ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติภูคา หน่วยย่อยที่ 10 (ดอยภูแว)

       

ชม ดอกชมพูภูคา ในป่าใหญ่ บ้านมณีพฤกษ์ ต้นชมพูภูคา เป็นพืชหายากใกล้สูญพันธุ์ที่มีดอกสีชมพูอมขาวงดงาม ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้ ชมพูภูคา เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

ต้นชมพูภูคา ถูกค้นพบและเปิดเผยขึ้นราวเดือนกุมภาพันธ์ 2532 ของ ดร.ธวัชชัย สันติสุข ผู้เชี่ยวชาญพฤกษศาสตร์ป่าไม้ ของกรมป่าไม้ ได้สำรวจพบต้นไม้พันธุ์หายากที่คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว คือต้นไบร์ทชไนเดอร์ ชิเนนชีส (BRETSCHNEIDERA SINENSIS) ดอกสีชมพูอมขาว ตั้งตรงเป็นกลุ่มยาวราว 30 เซนติเมตร และได้ตั้งชื่อจากการค้นพบครั้งแรกในเมืองไทยว่า “ชมพูภูคา”

     

ต้นชมพูภูคา ที่นี่หลายจุด จุดที่เข้าถึงได้ง่าย และไม่ยาก คือต้นที่อยู่เลย สามแยกศูนย์บรรพษุรุษวัฒนธรรมอีบีม้ง ไปทางด้านขวามือเพียง 50 เมตร ก็จะพบป้าย “ต้นชมพูภูคา” ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่พร้อมกับต้นชมพูภูคา ขนาดย่อม สูงประมาณ 40 เมตร ช่อดอกชมพูภูคา ออกช่อตามกิ่งก้าน ประมาณ 20 ช่อ

ต้นชมพูภูคา อีกจุด ทางเข้าตั้งอยู่ซ้ายมือตรงหัวมุมก่อนถึงสามแยก ของศูนย์บรรพษุรุษวัฒนธรรมอีบีม้ง
มีป้ายบอกทางเดินเท้าเข้าไปในป่า ประมาณ 600 เมตร แรกๆ จะเป็นทางรถเดินเข้าไปค่อนข้างสะดวก พอถึงกลางป่า เจอไร่กาแฟ จะเหลือทางเดินเท้า เพียงคนเดียวเดินเรียงหนึ่งเข้าไป
ด้วยสภาพของผืนป่าที่ค่อนข้างแห้งแล้งในช่วงนี้ อาจต้องใช้ความระมัดระวังในการเดิน เพราะใบไม้แห้งร่วงตกหล่นทับถมทางเดิน ทำให้ลื่นได้ง่ายๆ

 


ต้นดอกชมพูภูคา ภายหลังมีการค้นพบต้นชมพูภูคา ในป่าของจังหวัดน่าน ที่มีความสูงในการเจริญเติบโต ในหลายพื้นที่ ที่สำคัญและมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชมมาก เช่น อช.ดอยภูคา ตรงศาลเจ้าหลวงภูคา ริมเส้นทางสายหลัก 1256 และในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ อช.ดอยภูคา ที่อำเภอนาน้อย ในสถานีวิจัยต้นน้ำขุนสถาน ดอกชมพูภูคา จะออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคมของทุกปี


ยามบ่าย เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากับการเดินทางกลับมานั่งพักจิบกาแฟ ด้านหน้าโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในลุ่มแม่น้ำน่าน อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ พื้นที่ที่ 6 จังหวัดน่าน พูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกับเจ้าหน้าที่ฯ พิชญา ยอดออน ที่ดูแลที่นี่ ได้รับกาแฟเย็นๆ คนละแก้ว ทั้งผู้มาเยือนและเจ้าบ้าน คุณมานะ กำเนิดมงคล ที่รับอาสาเป็นไกด์พาชมต้นชมพูภูคา พร้อมพาไปเที่ยวชมบ้านของตัวเอง

ในหมู่บ้าน ที่ส่วนใหญ่คงวิถีดั้งเดิม มีเพียงสิ่งอำนวยความสะดวก เช่นมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีให้เห็นกันแทบทุกบ้าน และบ่งบอกสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นของชาวบ้าน เพราะการท่องเที่ยวเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน และทุกวันนี้ กาแฟ แทบจะเป็นไฮไลท์อีกอย่างของที่นี่ รองกล้วย วิชัย กำเนิดมงคล บอกว่า การปลูกกาแฟ มีหลายสายพันธุ์แต่ที่ปลูกได้ดี และให้ผลผลิตคุ้มค่ากับการทำไร่กาแฟ คือ กาแฟคาร์ติมอร์เป็นสายพันธุ์กาแฟตัวหนึ่งของอาราบิก้า

         

      

ปลูกเฉพาะโซนภาคเหนือที่ระดับน้ำทะเล 800 เมตร ขึ้นไปทนต่อโรคมากกว่า ตัวอื่นๆ รสชาดจะขมและฝาดและน้อยซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคาร์ติมอร์ ที่บ้านมณีพฤกษ์ ปลูกคาร์ติมอร์เยอะที่สุดเพราะว่าให้ผลผลิตดีทนต่อโรคและทนแล้งแสงแดดได้ดีกว่าตัวอื่นๆ
ที่บ้าน มานะ กำเนิดมงคล ในหมู่บ้านมณีพฤกษ์ 1 ตัวบ้านสร้างด้วยไม้ ตั้งบนพื้นดิน เหมือนกับการสร้างบ้านเรือนของพี่น้องชนเผ่าทางภาคเหนือของประเทศไทยทั่วไป ตัวบ้านแยกเป็น 2 ส่วนพัอาศัยจะเทคอนกรีต สูงกว่าอีกส่วนหนึ่ง ที่เป็นห้องครัวติดกับพื้นดิน ที่ส่วนใหญ่จะใช้ปรุงอาหาร นั่งทานข้าว วางข้าวของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากจะทำไร่กาแฟ ยังถักไม้กวาดดอกหญ้า ที่หาได้ในแถบนี้ ขายสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว

 

                 

เวลายามบ่ายหมดไปกับการจิบชา พูดคุย ในโอกาสดีๆ แบบนี้ เพราะนานๆครั้ง ชาวบ้านจะหยุดอยู่กับบ้านไม่กี่วัน ส่วนใหญ่จะออกไปอยู่ในไร่กาแฟตั้งแต่เช้า และจะกลับมาอีกทีตอนเย็นหรือค่ำมืด จะเห็นเฉพาะเด็กๆ วิ่งเล่น และคนชรานั่งจับกลุ่มพูดคุย และนั่งปักผ้าชาวเขา
จากเช้า สาย บ่าย สู่เย็นย่ำ ทำให้เราได้อะไรๆ หลายๆ อย่างในการเดินทางในวันเดียว ทั้งที่แหล่งท่องเที่ยวของหมู่บ้านมณีพฤกษ์ ยังมีอีกมากที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา และสามารถเปิดให้เข้าศึกษาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เพราะชาวบ้านที่นี่ยังคงใช้ชีวิตของตัวเองผูกพันกับวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิม นานๆครั้งเปิดเผยให้เราได้เห็นมุมที่ซุกซ่อนในซอกหลืบของขุนเขา รอคอยผู้มาเยือนค้นหา เฝ้าถาม และกลับไปหาคำตอบอีกครั้ง
***การเดินทาง*** จากตัวเมืองน่าน ใช้ทางหลวงแผ่นดิน 101 ไปอำเภอท่าวังผา ผ่านอำเภอปัว เข้าเขตอำเภอเชียงกลาง ประมาณ 80 กม.เลี้ยวขวา ที่บ้านนาหนุน ไปบ้านกอก และแยกซ้ายมือ ใช้เส้นทาง ปางแก-มณีพฤกษ์ ระยะทาง 39 กม.ถึงหน้า โครงการ พมพ. มณีพฤกษ์ ที่ 6
ถ้ำผาผึ้ง จากโครงการ พมพ. มณีพฤกษ์ ที่ 6 เลี้ยวซ้ายมือไปบ้านมณีพฤกษ์ 1 เพียง 1 กม. มีป้ายบอกทาง เดินเท้าไปอีก 100 เมตร ควรเตรียมไฟฉาย น้ำ ยารักษาโรค ติดตัวไปด้วย
ดอยผาผึ้ง สามารถไปได้ 2 เส้นทาง จากโครงการ พมพ. มณีพฤกษ์ ที่ 6ผ่านทางบ้านมณีพฤกษ์ 1 และมณีพฤกษ์ 2 ระยะทางทั้งสองเส้นทาง 5.5 กม. โดยประมาณ
ต้นชมพูภูคา เลี้ยวขวาด้านหน้าจากโครงการ พมพ. มณีพฤกษ์ ที่ 6 ไปบ้านมณีพฤกษ์ 2 ประมาณ 2 กม. ถึงทางแยกไปหน่วยภูคาย่อยที่ 10 เลี้ยวขวา เป็นทางลูกรังอีก 1.3 กม. ถึงทางแยกสังเกตุซ้ายมือ มีป้ายบอกทางไปชมดอกชมพูภูคา เดินเท้าอีก 600 ม.

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม รองกล้วย วิชัย กำเนิดมงคล 062 248 5018,  หน.พินิจ ลิมาลัย  โทร 086 075 3531 , สำนักงาน พมพ.ที่ 6 โทร. 054 730 163
ที่พัก และการบริการ  นักท่องเที่ยวสามารถ ใช้บริการรถ ขึ้น-ลง ดอยผาผึ้งหรือ กางเต้นท์ และนอนโฮมสเตย์ โดยกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนและกลุ่มกาแฟบ้านมณีพฤกษ์

ที่มา http://review.tourismthailand.org/baanmaneepruek/