Cinque Terre

วิถีสุขปัญญา


อีกหนึ่งก้าวย่างสู่ความหวังของเกษตรกรบนวิถีเกษตรกรรมแบบพอเพียง:การขับเคลื่อนประเด็นความปลอดภัยและความมั่นคงของอาหารบนฐานทรัพยากร 4P-W พิษณุโลก

มันเป็นเรื่องที่น่าใจหายสำหรับคนหวงแหนแผ่นดินอย่างคุณณัฐพงศ์ แก้วนวล ที่จะต้องบอกกับพวกเราว่า “ไปดูเพื่อนเกษตรกรผมหน่อยครับอาจารย์ เขากำลังจะถอดใจไปหางานทำที่อื่นแล้ว ล่าสุดเขาหั่นต้นมะนาวทิ้งไปหลายต้นแล้ว ลองไปคุยจังหวะก้าวต่อไปดูกันครับ เราอาจจะช่วยเขาให้มีความหวังทำเกษตรปลอดภัยต่อไปได้” เพื่อนที่คุณณัฐพงศ์กล่าวถึงนี้ นับเป็นหนึ่งในเกษตรกรจำนวนหลายรายที่เราพบว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรที่กำลังถอดใจจากการทำการเกษตรปลอดภัย ที่ยังขาดตลาดรับรองที่ชัดเจน ทำให้รายรับจากการทำการเกษตรในพื้นที่ของตนเองที่พวกเขารักนั้น ไม่รองรับค่าใช้จ่ายในชีวิตจริง และอีกจำนวนไม่น้อยที่ประสบกับภาวะหนี้ท่วมหัวจนหัวใจกดดัน กลายเป็นโรคเรื้อรัง ความสัมพันธ์ในครอบครัวล่มสลายเพราะลูกหลานแยกย้ายกันไปหาเงินต่างถิ่น ทิ้งหลานให้ตายายเลี้ยงแบบมีช่องว่างทางความคิด เด็กที่เติบโตแบบรอวันโบยบินไปติดกับดักสังคม วัตถุนิยม บริโภคนิยม อีกไม่กี่ปีก็กลับมาขายที่ดินเพื่อไปดาวน์รถยนต์ หรือคอนโดห้องเล็กๆ ในเมือง หรือดีขึ้นมาหน่อยก็เป็นบ้านจัดสรรบนพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางวา แล้วปล่อยให้คนแปลกหน้าที่มาพร้อมกับกับเครื่องจักรครอบครองแผ่นดิน บางคนปล่อยให้คนเฒ่าคนแก่นั่งดูรถบรรทุกขนทรัพยากรออกจากหมู่บ้าน ลูกหลานรับเศษเงินจากค่าแรงรายเดือนรายวันกับสังคมของการทำงานที่มุ่งแต่ผลตอบแทนทางธุรกิจ การพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางศรษฐกิจ การพัฒนาที่ดึงฐานทรัพยากรที่เอื้อต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศไปและการพัฒนาที่ส่งผลในแง่ลบต่อคุณภาพชีวิตและความสุขแบบองค์รวมของคนทั่วไปมากขึ้นทุกวัน

ระหว่างนั่งอยู่บนรถ ตลอดข้างทางเรามองเห็นภาพแปลงนา สวนมะม่วงและพืชไร่อีกหลากหลายชนิด จนตื่นจากภวังค์ในความคิด เมื่อได้มาถึงภายในไร่ของ “ชมบุญ” หนึ่งในผู้ที่กำลังคิดถอดใจจากการทำการเกษตรปลอดภัย ชื่อเขาไพเราะมาก เขาน่าจะเป็นบุญมาเกิดในความรู้สึกของผู้เป็นพ่อแม่ของเขา ซึ่งท่านได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว ชมบุญอยู่ในที่ดินมรดกคนเดียวในบ้านหลังเล็กๆกับเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร โรงเพาะชำ โรงทำปุ๋ยและแปลงพืชไร่พืชสวนนานาชนิด แวบหนึ่งของความคิดคือ เสียดายหากที่นี่จะต้องถูกทิ้งร้างไปจากเจ้าของที่ดินที่กำลังหมดหวังจากอาชีพเกษตรกรรมที่เขารักและผูกพันไป เพราะการจัดการระบบเกษตรกรรมปัจจุบันที่ยังไม่เอื้อต่อการที่จะทำให้เกษตรกรทั่วไปสามารถมีรายได้ที่เหมาะสมและปราศจากหนี้สินที่พัวพันกันเกือบทุกครอบครัว ทั้งที่พื้นดินแถวนี้นั้นมีต้นทุนทรัพยากรสูงเหลือเกิน เราจึงได้หารือกันในสวนสนามหญ้าที่จัดแบบง่ายๆ แต่ปกคลุมไปด้วยพืชอาหารหลากหลายชนิดบนวิถีที่ไม่พึ่งพาปุ๋ยเคมีและสารปราบศัตรูพืชเหมือนกับเกษตรกรทั่วไป รวมทั้งพืชอาหารจากทางภาคใต้ เช่น สตอและผักเหลียงด้วย

การสนทนาของเราเริ่มขึ้นอย่างเป็นกันเอง เราจะเริ่มเชื่อมร้อยเจ้าของแปลงที่ปลูกพืชผักกันคนละเล็กละน้อยแบบผสมผสานกระจายกันตามความต้องการของตลาด และสร้าง “กลไกโซ่ข้อกลาง” ที่เราเสนอเพิ่มเติมว่า จะเป็นกลไกที่เชื่อมระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค โดยการรับซื้อพืชผัก ข้าวจากเกษตรกรและจัดการขายกับผู้บริโภคให้ โดยการเริ่มต้นจากหน่วยงานด้านสุขภาพที่เห็นความสำคัญของอาหารปลอดภัยก่อนคือ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งท่านคณบดีและคณะผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ที่ตระหนักถึงพิษภัยที่ตกค้างและปนเปื้อนมากับอาหาร ที่บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรภายในมหาวิทยาลัย และผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ ต้องการเพื่อการบริโภคภายในครอบครัว รวมถึงอาหารที่เตรียมให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลและอาหารปรุงสุกที่ขายในโรงอาหารของโรงพยาบาลด้วย เกษตรกรภายในกลุ่มจะร่วมกันทำหน้าที่ผลิตอาหารที่ปลอดภัยและส่งต่อผ่านระบบการขนส่งพืชผักเท่านั้น จากนั้น “กลไกโซ่ข้อกลาง” จะช่วยรับประกันราคาผลผลิตขั้นต่ำและซื้อขาดจากเกษตรกรแบบพ่อค้าคนกลางให้ หากราคาผลผลิตในตลาดสูงก็จะปรับราคาเพิ่มตามกลไกของตลาด ช่องทางการจัดจำหน่ายจะเริ่มต้นจากการจำหน่ายผ่านมุมอาหารปลอดภัยด้วยระบบเชื่อใจที่ผู้บริโภคบริการตนเองโดยการจัดวางผักไว้ในตู้เย็นพร้อมกับกล่องรับเงิน และยังมีอีกหลายคนในเมืองที่มีสถานที่พร้อมให้จัดร้านจำหน่ายได้ เมื่อมาถึงจุดนี้ทุกคนมองหน้าเราด้วยสีหน้าที่ยิ้มแบบมีความหวังปนด้วยความสงสัยว่าจะทำได้จริงหรือ “เราต้องลองดู ต้องสู้และมั่นใจ เราจะสู้ไปด้วยกัน ถ้ามีปัญหาก็ต้องค่อยๆปรับแก้กันไป” หลังจากเราพูดจบ ลุงตุ๋ยรีบสนับสนุนว่า ถ้าเป็นแบบนี้เราทำได้แน่ ผมมั่นใจ ขณะที่ชมบุญยังเงียบอยู่ แม้สีหน้าดูจะมีความหวังขึ้นมาบ้าง น้องเอ เกษตรกรหนุ่มน้อยที่สุดในทีม ก็ดูมีความหวังและพร้อมที่จะลุยไปด้วย ณัฐพงศ์ได้ชวนทุกคนไปทานข้าวเที่ยง ที่บ้านลุงทรัพย์ ลุงทรัพย์เป็น “คนมือซน” ตามคำโบราณที่ชอบเรียกคนขยันปลูกพืชนี่นั่นไปเรื่อยเปื่อย ทั้งแจกทั้งขาย ชมบุญตามไปทานข้าวกับเรา เวลานี้ชมบุญดูจะแสดงถึงความเชื่อมั่นมากขึ้น และกล่าวกับคณะในพื้นที่ว่า เราจะสู้เพื่อแผ่นดินนี้ไปด้วยกัน ซึ่งจากความหวังของเกษตรกรกลุ่มเล็กๆ ที่มีจุดยืนของการทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเองไม่พึ่งพาปุ๋ยเคมี สารเคมีปราบศัตรูพืช ที่เราเริ่มเกี่ยวก้อยไว้เบื้องต้นได้ถูกจุดประกายบนฐานทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์นี้ ได้ทำให้ทางเราในฐานะผู้เยี่ยมเยือนมีกำลังใจในการทำงานต่อมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากสีหน้าที่แสดงถึงความหวังของคนในพื้นที่นี้ กลับเป็นความท้าทายของคณะทำงาน 4P-W จังหวัดพิษณุโลก ที่จะต้องสานพลังต่อ เพื่อการขับเคลื่อนประเด็นอาหารปลอดภัยบนฐานทรัพยากรนี้ว่า จะเป็นได้หรือประสบความสำเร็จในเบื้องต้นมากน้อยเพียงใด

พวกเราสบายใจและมีความมั่นใจขึ้น เมื่อณัฐพงศ์ได้ขับรถพาเราไปดูไร่ของแนวร่วมคนสำคัญอีกคนหนึ่งในพื้นที่คือ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่สองสมัย ที่เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ ในรถของณัฐพงศ์เราได้หยิบจับวิทยานิพนธ์สีแดงสดที่วางอยู่หน้ารถที่พาเราไป ที่เป็นรายงานการวิจัยเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ที่ท่านอดีตนายกได้ทำไว้ตอนศึกษาในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย จบท้ายของวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2560 เวลา 15.00 น. กว่านิดหน่อย ทำให้หวลนึกถึงต้นธารแห่งแรงบันดาลใจ ที่วันนี้ครบหนี่งปีที่พ่อหลวงของเราจากไป พวกเราจะน้อมนำเอาหลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การฏิบัติ เกิดการขยายผลให้กว้างขวางขึ้น เกิดเป็นพื้นที่และศูนย์การเรียนรู้ เกิดชุดความรู้และขับเคลื่อนด้วยพลังปัญญาบนฐานของความพอเพียง ให้คนไทยสามารถพึ่งพาบนฐานทรัพยากรของตนเอง

จากการเข้าพื้นที่เนินมะปรางครั้งนี้ของเรา จึงเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของการขับเคลื่อนประเด็นความปลอดภัยและความมั่นคงของอาหารบนฐานทรัพยากรให้เป็นรูปธรรม เรามั่นใจว่ามีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยเลยที่ปฏิเสธกระแสการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องพึ่งพาระบบการผลิตที่พึ่งพาสารเคมีทางการเกษตรเหมือนเกษตรกรโดยทั่วไป และกลไกการตลาดที่ไม่อาจคาดราคาของผลผลิตได้ คณะทำงานพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนฐานทางปัญญา (Participatory Public Policy Process based on Wisdom: 4P-W) จังหวัดพิษณุโลก เราจึงมองไปข้างหน้าสู่เนื้องานที่ต้องทำต่อไปคือ การจัดทำระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงระหว่างการผลิตกับการบริโภค การพัฒนากลไกของระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัยของผู้ผลิตที่เหมาะสม ที่เป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐานด้านความปลอดภัย โดยเป็นมาตรฐานที่ไม่ติดกรอบมากเสียจนเกษตรกรหลายส่วนเข้าไม่ถึง และเป็นมาตรฐานที่มีกลไกตรวจสอบจากการยอมรับร่วมกัน การส่งเสริมความรู้และความตระหนักถึงพิษภัยจากการบริโภคอาหารที่ตกค้างและปนเปื้อนในอาหาร และที่สำคัญคือ การที่จะต้องสร้างกลไกการตลาดในลักษณะที่ไม่แสวงหากำไร ที่จะเป็น “กลไกโซ่ข้อกลาง” ของจังหวัดพิษณุโลก ที่จะเป็นกลไกช่วยทำให้เกิดการจัดการระบบสุขภาพทั้งระบบคือ สุขภาวะที่ดีของเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตที่เป็นต้นทางของการนำพาไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีผู้บริโภคและการจัดการระบบของสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนด้วย โดยน่าจะเป็นกลไกที่สำคัญกลไกหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมสู่วิถี “สุขะปัญญา” และนำพาเกษตรกรสู่วิถีเกษตรกรรมแบบพอเพียงตามศาสตร์ของพระราชา รอดพ้นจากระบบการเกษตรแบบเชิงเดี่ยวและต้องพึ่งพาเคมีเกษตรทั้งปุ๋ยสังเคราะห์และยาฆ่าแมลง พืชตัดแต่งพันธุกรรม ระบบที่ส่งผลกระทบในทางลบทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามมามากมาย และระบบที่ทำให้เกษตรกรมีแต่หนี้สินล้นพ้นตัวไปได้