แนวคิด

          จังหวัดนครสวรรค์เป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงปลาน้ำจืดในบ่อดินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปลาสวาย ปริมาณน้ำทิ้งที่ถูกปล่อยออกจากบ่อเลี้ยงปลาลงสู่สิ่งแวดล้อมจึงมีปริมาณมาก ทำให้เป็นจังหวัดที่ติดอันดับหนึ่งในสิบของประเทศที่มีปริมาณมลพิษจากบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมสูงที่สุด น้ำทิ้งที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประกอบไปด้วยแร่ธาตุ สารอาหาร แพลงก์ตอนพืช ที่ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นหากนำน้ำทิ้งจากบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไรน้ำนางฟ้าไทยซึ่งเป็นสัตว์กรองกินแพลงก์ตอนพืช สารอินทรีย์และสารแขวนลอย นอกจากจะช่วยลดปริมาณมลพิษที่จะปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ยังได้ผลผลิตอาหารที่มีชีวิตที่มีคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากไรน้ำนางฟ้าไทยเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เหมาะสำหรับการเลี้ยงปลาตั้งแต่ปลาวัยอ่อนจนถึงพ่อแม่พันธุ์ปลา และยังมีคุณสมบัติในการเพิ่มสีให้กับปลาสวยงามทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดปลาสวยงามด้วย
          ไรน้ำนางฟ้าไทย (Thai fairy shrimps) พบในธรรมชาติมานานแล้ว คนอีสานเรียกว่า แมงอ่อนช้อย หรือแมงหางแดง หรือแมงแงว หรือแมงน้ำฝน ช่วงเวลาที่พบไรน้ำนางฟ้าไทยในธรรมชาติจะอยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนสิงหาคม แต่ปัจจุบันสามารถทำการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าไทยได้ตลอดทั้งปี


ลักษณะของไรน้ำนางฟ้าไทย
          ไรน้ำนางฟ้าไทยมีลักษณะลำตัวสีส้มแดงตลอดทั้งตัว แต่ไรน้ำนางฟ้าไทยตัวเมียจะมีสีเข้มกว่าตัวผู้ มีถุงไข่ 1 ถุง รุปร่างกลมยาวหรือกลมรีปลายเรียวลงคล้ายก้นกรวย มีช่องเปิดที่ปลายสุด ไข่มีลักษณะเป็นรูปวงกลมคล้ายตะกร้อ ลำตัวยาวประมาณ 1.7-4.3 เซนติเมตร ส่วนตัวผู้จะมีหนวดคู่ที่ 2 ขยายใหญ่มองดูคล้ายงวงไว้ใช้สำหรับเกาะตัวเมียเวลาผสมพันธุ์




วงจรชีวิต

          ไข่ของไรน้ำนางฟ้าไทยจะใช้เวลาในการฟักเป็นตัวประมาณ 24 ชั่วโมง เมื่อไรน้ำนางฟ้าไทยมีอายุ 8-9 วัน จะสามารถสร้างไข่ และพัฒนาขยายพันธุ์ได้อีกทุก ๆ วัน โดยเฉลี่ยจะมีวางไข่วันละ 1 ครั้ง ไรน้ำนางฟ้าไทยจะมีอายุขัยประมาณ 25-30 วัน

ไข่ไรน้ำนางฟ้า

ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร. จงดี ศรีนพรัตน์วัฒน
สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ (เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ)
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

จำนวนผู้เข้าชม 1525 คน
©2020 กลุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน (IT4CD)
All Rights Reserved. ติดต่อ orasa.t@nrsu.ac.th