ลักษณะการเลี้ยงปลาแบบผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์

การเลี้ยงปลาแบบผสมผสานหากจำแนกตามที่ตั้งของโรงเรือนเลี้ยงสัตว์จะพบว่ามี 2ลักษณะ (กรมประมง, 2553) คือ

1) แบบสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ไว้เหนือบ่อเลี้ยงปลา

การสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ไว้เหนือบ่อเลี้ยงปลาเป็นแบบที่นิยมกันมากที่สุด เพราะสะดวกและสามารถระบายมูลสัตว์จากโรงเรือนลงสู่บ่อปลาโดยตรง สัตว์ที่อาศัยอยู่ในโรงเรือนบนบ่อปลาจะได้ประโยชน์จากบ่อปลาในการช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้ต่ำลง สัตว์จึงไม่เครียด ทำให้กินอาหารได้มากขึ้น โตเร็วและต้านทานโรคได้ดี ทั้งยังดูแลรักษาความสะอาดได้ง่าย ประหยัดแรงงาน ข้อเสีย คือ ต้นทุนค่าสร้างโรงเรือนสูงขึ้น เนื่องจากต้องใช้ไม้ทำเสา และวัสดุปูพื้นเพิ่มขึ้น โรงเรือนลักษณะนี้เหมาะสำหรับเลี้ยงสัตว์เล็ก เช่น เป็ดหรือไก่เท่านั้น การเลี้ยงสัตว์บนบ่อปลานอกจากจะช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรแล้วยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตปศุสัตว์ สุทัศน์ (2549) กล่าวว่า การสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อื่นล้ำเข้าไปในบ่อเลี้ยงปลา ยังทำให้มูลสัตว์หล่นลงไปในบ่อปลาโดยตรง ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนในการขนส่ง และการจัดการเก็บอาหารปลา นอกจากนี้ยังช่วยให้การล้างทำความสะอาดโรงเรือนสะดวกยิ่งขึ้นอีกด้วย

รูปแบบเล้าไก่บนบ่อปลา

2) แบบสร้างโรงเรือนแยกออกไปจากบ่อปลา

การสร้างโรงเรือนแยกออกไปจากบ่อปลา โดยมีรางระบายมูลสัตว์จากโรงเลี้ยงมาสู่บ่อปลา แบบนี้จะพบมากในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ใหญ่ เช่น สุกร ที่สร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อยู่ก่อนแล้วจึงขยายเนื้อที่เลี้ยงปลาโดยการขุดบ่อในภายหลัง

2.ลักษณะบ่อปลาและเล้าไก่

บ่อที่ใช้เลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงไก่นั้นใช้บ่อดินที่มีลักษณะเดียวกับบ่อเลี้ยงปลา โดยทั่วไปควรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความลึกประมาณ 1.50-2.00 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้โดยเฉลี่ย 1-1.50 เมตร ในช่วงที่มีการเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงไก่ เล้าไก่ ซึ่งเป็นอาคารและโรงเรือนควรสร้างคร่อมบ่อที่เลี้ยงปลา เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่เดียวกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการเหมาะสมเมื่อไก่ที่เลี้ยงถ่ายมูลหรือเศษอาหารตกลงในบ่อเป็นประโยชน์ต่อปลาโดยตรง โดยมิต้องเสียเวลาในการทำความสะอาดเป็นการตัดภาระในด้านค่าใช้จ่าย สำหรับรูปร่างของเล้าไก่นั้นก็ควรสร้างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเช่นเดียวกัน พื้นเล้าไก่สูงกว่าระดับผิวนน้ำในบ่อเฉลี่ย 1.20 เมตร ซึ่งบ่อมี 2 แบบคือ

1) แบบตั้งบนบ่อปลา

ปลาจะได้รับอาหารที่ไก่เขี่ยกระเด็นออกมาเป็นอาหารโดยตรง และได้รับอาหารจากมูลไก่ที่ย่อยไม่หมด ส่วนที่เหลือจะกลายเป็นปุ๋ยให้เกิดแพลงก์ตอนในบ่อต่อไป ปลาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยสามารถลดปริมาณอาหารสมทบหรือไม่ต้องลงทุน ลดแรงงานและเวลาในการหาอาหารให้ปลาไม่ต้องทำความสะอาดในเล้า

รูปแบบเล้าไก่บนบ่อปลา

2) บนพื้นดิน

มูลไก่และเศษอาหาร จะตกลงที่พื้นดิน ใต้เล้า หากทิ้งไว้นานคุณค่าอาหารจะเปลี่ยนไป เพิ่มงานและเสียเวลาเพื่อขนถ่ายมูลไก่ไปลงบ่อปลา สัปดาห์ละครั้งเป็นอย่างน้อย ทั้งยังสามารถควบคุมให้ปริมาณปุ๋ย ในบ่อไม่มากเกินไปได้โดยการทยอยใส่ปุ๋ย ลงในบ่อ ในกรณีพื้นที่นั้นมีปริมารณน้ำที่จะใช้น้อย เช่น ปีหนึ่งมีน้ำเพียง 8 เดือน อย่าสร้างเล้าไว้บนบ่อ

รูปแบบของการเลี้ยงสัตว์บนพื้นดิน

3. ทิศทางตำแหน่งที่ตั้ง ขนาดและลักษณะเล้าไก่

การสร้างเล้าไก่ควรหันให้ด้านยาวของเล้าหันในทิศทางตะวันออก – ตะวันตกเพื่อไม่ให้แสงแดดส่องเข้าในเล้าโดยตรงนานเกินไปในช่วงสาย ๆ และบ่าย ๆ แต่ถ้าไม่สามารถหันได้ตามทิศทางดังกล่าวและด้านยาวจำเป็นต้องหันไปทิศเหนือ – ใต้ ก็จะต้องทำชายคาให้ต่ำลงมาบังแสงได้เพียงพอ เล้าไก่ควรเป็นแบบเปิดและอยู่กลางแจ้ง เพื่อจะได้รับแสงสว่างและการถ่ายเทอากาศจากธรรมชาติ ปกติแล้วเล้าจะปลูกสร้างเป็นแถวเดียวกัน มีหลังคาเป็นแบบจั่ว มีความยาว 6–8 เมตร และมีความสูง 3.0 เมตร แต่ละห้องแบ่งขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 40 ตารางเซนติเมตร เลี้ยงไก่ได้จำนวน 800 ตัว ส่วนความกว้างของเล้าจะขึ้นอยู่กับจำนวนไก่ที่เพิ่มขึ้น เล้าไก่ควรมีอัตราส่วนช่องหน้าต่างต่อเนื้อที่พื้นเล้าเท่ากับ 1:8–1:10 เพื่อช่วยให้เกิดการถ่ายเทอากาศได้ดี พื้นเล้าสูงจากระดับน้ำบ่อปลาประมาณ 1.0–1.50 เมตร

โดย ผศ. จามรี เครือหงษ์ และผศ.ดร.จงดี ศรีนพรัตน์วัฒน
สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ (เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ)
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

จำนวนผู้เข้าชม 704 คน
©2020 กลุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน (IT4CD)
All Rights Reserved. ติดต่อ orasa.t@nrsu.ac.th