การเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงไก่

วิธีการเลี้ยงไก่ร่วมกับการเลี้ยงปลาแบบการค้า

สำหรับเกษตรกรที่มีความสนใจจะเลี้ยงไก่ผสมผสานกับเลี้ยงปลาให้เป็นการค้าควรจะเตรียมการและวางแผนการเลี้ยงล่วงหน้าไว้ดังนี้

1. วางแผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตปลาให้พอดีกับฤดูแล้งซึ่งปลาจะมีราคาดี
2.หลีกเลี่ยงการเลี้ยงปลาและไก่ในฤดูหนาว เนื่องจากเป็นฤดูที่มีโรคระบาด
3. ตรวจดูความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาการเลี้ยงไก่และชนิดปลาที่จะเลี้ยง ตัวอย่างเช่น รูปแบบผสมผสานที่ 1 เลี้ยงไก่เนื้อกับปลานิล ปลาสวาย ปลาจีน รูปแบบผสมผสานที่ 2 เลี้ยงไก่เนื้อ 2 รุ่นกับปลาดุกบิ๊กอุย รูปแบบผสมผสานที่ 3 เลี้ยงไก่ไข่กับปลานิล
4. ผู้เลี้ยงควรจัดเตรียมบ่อดินและโรงเรือนไก่ให้เสร็จเรียบร้อยในฤดูแล้งเพื่อความสะดวกในการทำงาน มีขั้นตอนดังนี้
1) บ่อเก่าให้ล้างบ่อโดยสูบน้ำจับปลาเก่าออกให้หมด และขุดลอกเลนบางส่วนออกโดยให้คงเหลือไว้ 10 – 20 เซนติเมตร โรยปูนขาวอัตรา 40 – 60 กิโลกรัมต่อไร่ ตากบ่อให้แห้ง
2) ขุดบ่อใหม่ ควรเปิดน้ำลงบ่อให้พอแฉะ ๆ โรยปูนขาว อัตรา 100 – 200 กิโลกรัมต่อไร่ ตากบ่อให้แห้ง
3) เปิดน้ำลงบ่อให้ผ่านมุ้งไนล่อนตาถี่ เพื่อป้องกันปลากินเนื้อที่อาจหลุดเข้ามาได้
4) บริเวณท่อน้ำเข้าให้กองปุ๋ยคอกไว้ในอัตรา 60 – 100 กิโลกรัมต่อไร่
5) เปิดน้ำเข้าบ่อให้มีระดับ 30 เซนติเมตรแล้วปิดน้ำ พักบ่อไว้จนน้ำในบ่อกลายเป็นสีเขียว
6) เปิดน้ำเข้าบ่ออีกครั้งให้ได้ระดับลึก 1.0 -1.20 เมตร ควรปักไม้ไว้วัดระดับน้ำ
7) เมื่อน้ำในบ่อเป็นสีเขียวดีแล้ว ก็สามารถจัดหาพันธุ์ลูกไก่มาเริ่มเลี้ยงบนเล้าได้



อัตราส่วนจำนวนไก่และขนาดบ่อปลา

อัตราการเลี้ยงไก่ประเภทต่าง ๆ ต่อพื้นที่บ่อทุก ๆ 1 ไร่ โดยตั้งเล้าไว้บนบ่อ ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 อัตราความหนาแน่นของการเลี้ยงไก่ที่เหมาะสม
ลักษณะการจ่ายน้ำเข้าฟาร์ม ไก่พันธุ์เนื้อ ( ตัว/ไร่ ) ไก่พันธุ์พื้นเมือง ( ตัว/ไร่ ) ไก่พันธุ์ไข่ ( ตัว/ไร่ )
ฟาร์มที่รับน้ำได้ตลอดเวลา* 350 350 200
ฟาร์มที่รับน้ำได้เป็นเวลา 260 260 150
ฟาร์มที่มีน้ำบาดาลหรือน้ำฝนตลอดทั้งปี 175 175 100
ฟาร์มที่มีน้ำบาดาลหรือน้ำฝนน้อยกว่า 8 เดือน/ปี ** **** **** ****
ที่มา: กรมประมง (2553)
หมายเหตุ:* หมายถึง มีแหล่งน้ำที่สามารถจะจ่ายน้ำให้ได้ตลอดเวลาและตลอดปี แต่ลักษณะฟาร์มที่อยู่ในเขตพื้นที่ชลประทานไม่ถือว่าอยู่ในกรณีนี้ และให้ถือว่าอยู่ในกรณีที่ 2
** หมายถึง เป็นฟาร์มที่มีบางช่วงเวลาของปีขาดแคลนน้ำคือ รับน้ำได้ 8 เดือนต่อปี

ขั้นตอนการเลี้ยงไก่ควบคู่กับการปล่อยปลา

1. การนำลูกไก่มาเลี้ยงควรเริ่มหลังจากเตรียมบ่อปลาและน้ำมีสีเขียวดีแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้มูลไก่ตกลงสู่บ่อปลา ซึ่งลูกปลาที่เพิ่งปล่อยและอาหารธรรมชาติที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ลูกปลาจะได้กินเป็นอาหารอย่างต่อเนื่อง
2. การเลี้ยงไก่ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ได้อัตราการรอดตายสูงที่สุด หากไก่มีอัตรารอดสูงนอกจากผู้เลี้ยงจะได้รับกำไรจากไก่สูงแล้ว ผลผลิตปลาก็จะสูงตามไปด้วย
3. อาหารและมูลไก่ในช่วง 5 สัปดาห์แรกนี้ จะเป็นอาหารที่มีคุณค่าสูงต่อลูกปลา ลูกปลาจะสามารถกินมูลไก่ได้โดยตรง
4. การเลี้ยงปลาสามารถเริ่มเลี้ยงไปพร้อมๆ กัน กับการเลี้ยงไก่
5.ใช้เลี้ยงเริ่มต้นควรเป็นลูกปลาตัวโตเพื่อให้ได้อัตรารอดตายที่สูง ขนาดของลูกปลากินพืชและปลาที่กินอาหารไม่เลือก ควรเป็น 2 นิ้ว และขนาดลูกปลาดุกควรเป็น 1 นิ้ว



อัตราส่วนที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงไก่

อัตราส่วนที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงไก่มีดังตารางที่ 2 และ ตารางที่ 3

ตารางที่ 2 อัตราส่วนที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงไก่
ชนิดของไก่ จำนวนตัวต่อบ่อ 1 ไร่ หมายเหตุ
ไก่พันธุ์เนื้อ ( ไก่กระทง ) 1,000 เลี้ยงตั้งแต่อายุ 1 วัน รุ่นละ 50 วัน ปีละ 5 ครั้ง เลี้ยงในกรงตับ
ไก่พันธุ์ไข่ 200
ชนิดของปลา ขนาด ( เซนติเมตร ) จำนวนต่อไร่
นิล 3 3,000
นิล สวาย 3 - 5 3,000 จำนวนเท่ากัน
นิล สวาย ตะเพียน ยี่สกเทศ นวลจันทน์เทศ จีน 3 - 5 3,000
ตารางที่ 3 อัตราการเลี้ยงสัตว์ร่วมกับการเลี้ยงปลา

ผลผลิตและผลตอบแทนของการเลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงไก่

ผลผลิตปลาจากการเลี้ยงแบบผสมผสาน จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณสัตว์ที่นำมาเลี้ยงกับชนิดและขนาดของปลาที่นำมาปล่อยและระยะเวลาที่เลี้ยงด้วย

ตารางที่ 4 ผลผลิตตามรูปแบบการเลี้ยงสัตว์และปลาชนิดต่าง ๆ
รูปแบบการเลี้ยง ขนาด ( ไร่ ) ผลผลิตปลาทั้งบ่อ ( ตัน ) ระยะเวลาการเลี้ยง ( เดือน )
ไก่เนื้อ + ปลานิล + ปลาสวาย 15 19 มากกว่า 8
ไก่เนื้อ + ปลานิล 10 5.7 10
ไก่เนื้อ + ปลาดุกบิ๊กอุย 5 16 100 วัน
ไก่เนื้อ + ปลานิล+ ปลาตะเพียน + ปลาสวาย 17 12 มากกว่า 8
สุกร + ปลานิล + ปลาสวาย 17 15 มากกว่า 8
สุกร + ปลากินพืชรวม 6 3.5 6
เป็ด + ปลากินพืชรวม 6 2.6 10

อาหารและการให้อาหาร

ในการเลี้ยงแบบผสมผสานกับการเลี้ยงไก่นั้น โดยปกติถ้าจัดอัตราส่วนที่เลี้ยงให้เหมาะสมต่อกันแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องให้อาหารสมทบ เพราะปลาได้อาศัยกินมูลไก่และเศษอาหารที่ไก่กินตกหล่นไปในบ่อ และอาหารธรรมชาติอื่น ๆ เพียงพอ เช่น แพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ตลอดจนตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลง ฯลฯ ส่วนในระยะแรกที่ปล่อยพันธุ์ปลาเลี้ยงในบ่อนั้นลูกปลายังมีขนาดเล็ก ไม่แข็งแรงและไม่คุ้นเคยกับมูลไก่ที่ใช้เป็นอาหาร ดังนั้น จึงควรใช้รำข้าวละเอียด โดยโปรยให้ลูกปลากิน หรือใช้อาหารผสม เช่น ปลายข้าวต้มผสมรำและปลาป่น ปั้นเป็นก้อนโยนให้ปลากิน หรือจะใช้ อาหารที่มีราคาถูก เช่น กากถั่ว หรือเศษอาหารจากภัตตาคารก็ได้ ปริมาณอาหารสมทบที่ให้ ควรลดลงตามลำดับและงดเมื่อปลาที่เลี้ยงโตขึ้น และคุ้นกับมูลไก่ที่ใช้เป็นอาหารแล้ว

การจับปลาจำหน่าย

ในกรณีที่เลี้ยงปลานิลกับไก่นั้น จะต้องคัดจับปลานิลขนาดใหญ่ออกจำหน่ายเมื่อเลี้ยงเป็นเวลา 4 – 5 เดือน เพราะปลานิลที่เลี้ยงไว้จะออกลูกและเพิ่มอัตราความหนาแน่นมากขึ้น ทำให้ปลาส่วนใหญ่ไม่เจริญเติบโตหรือแคระแกร็น การคัดจับปลานิลทำได้ง่าย โดยใช้ข่ายไนลอนขนาดช่องตา 6 – 8 เซนติเมตร ในช่วงตอนบ่ายกำหนดเวลาให้พอเหมาะกับเวลาที่จะนำปลาไปจำหน่ายให้แก่ผู้ซื้อในตลาดการคัดจับปลานิลต้องปฏิบัติเป็นประจำสำหรับบ่อขนาดใหญ่เนื้อที่ตั้งแต่ 3 – 5 ไร่ ส่วนการ เลี้ยงปลานิลกับปลาสวายหรือในการเลี้ยงปลาแบบรวม เมื่อเลี้ยงปลาเป็นเวลา 6 – 8 เดือน ก็ควรจะใช้อวนขนาดใหญ่คัดจับปลาที่มีขนาดโตออกจำหน่ายเสียบ้าง เพื่อลดอัตราความหนาแน่น และทำการวิดน้ำจับปลาทั้งหมดเมื่อเลี้ยงปลาครบรอบ 1 ปี หรือรอจับในช่วงเวลาที่ปลามีราคาสูงขึ้น



โดย ผศ. จามรี เครือหงษ์ และผศ.ดร.จงดี ศรีนพรัตน์วัฒน
สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ (เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ)
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

จำนวนผู้เข้าชม 752 คน
©2020 กลุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน (IT4CD)
All Rights Reserved. ติดต่อ orasa.t@nrsu.ac.th