การดูแลการปลูกพืชไม่ใช้ดิน

1.สิ่งสำคัญในการดูแลระบบปลูกพืชไม่ใช้ดิน

          สิ่งสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของการปลูกพืชระบบไร้ดินนั้น จะต้องมีการดูแล หรือจัดการ 4 ประการคือ การถ่ายเทอากาศ สารละลายอาหาร ความเป็นกรดด่างของสารละลาย และค่าการนำไฟฟ้าของสารละลายอาหาร

ภาพที่ 6 แสดงสิ่งสำคัญในการดูแลระบบปลูกพืชไร้ดิน
คือ การถ่ายเทอากาศ สารละลายอาหาร ความเป็นกรดด่างของสารละลาย และค่าการนำไฟฟ้าของสารละลายอาหาร

          1.การถ่ายเทอากาศ รากพืชต้องการอากาศในการหายใจเพื่อให้ได้รับพลังงานในการดูดน้ำและแร่ธาตุ การขาดอากาศจะทำให้รากพืชถูกจำกัดการเจริญเติบโตและตายในที่สุด
          2.สารละลายอาหาร สารละลายอาหารต้องมีแร่ธาตุที่ถูกต้อง กล่าวคือประกอบด้วย 13 แร่ธาตุ ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน เหล็ก โบรอน แมงกานีส สังกะสี ทองแดง คลอรีนและโมลิดิบนัม การขาดธาตุใดธาตุหนึ่ง ทำให้พืชเติบโตไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ธาตุอาหารแต่ละธาตุในสารละลาย จะต้องมีปริมาณที่เหมาะสมกับที่พืชต้องการด้วย
          3.ความเป็นกรดด่างของสารละลาย ความเป็นกรด ด่าง เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นประโยชน์ของแร่ธาตุอาหารต่อพืช กรดด่างที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 6.1 - 6.5
          4.ค่าการนำไฟฟ้าของสารละลายอาหาร ค่าการนำไฟฟ้าเป็นการบ่งบอกความเข้มข้นของแร่ธาตุในสารละลายอาหาร พืชแต่ละชนิดต้องการค่าที่เหมาะสมแตกต่างกันไป
          เมื่อสามารถจัดการปัจจัยที่สำคัญสี่ประการได้อย่างถูกต้องแล้ว ความสำเร็จในการปลูกพืชไม่ใช้ดินย่อมตามมาอย่างแน่นอน

          2.การจัดการสารละลายอาหาร
          1. การผสมสารละลายแร่ธาตุ ให้ผสมตามคำแนะนำของฉลากสารธาตุอาหารนั้นๆ เพื่อให้พืชที่ปลูกมีการเจริญเติบโตรวดเร็วและสมบูรณ์ ควรมีการเปลี่ยนสารละลายอาหารพืชใหม่ทุกๆ 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดขนาดและอายุของพืชที่ปลูก ขณะที่ต้นพืชมีอายุน้อยหรือมีขนาดต้นเล็ก ควรเปลี่ยนสารละลายธาตุอาหารทุกๆ 3-4 สัปดาห์ถ้าพืชมีขนาดโตเต็มที่และกำลังให้ผลผลิตมากก็ควรเปลี่ยนสารละลายธาตุอาหารทุกๆ สัปดาห์
          การปลูกพืชไม่ใช้ดินนี้ พืชจะมีการให้น้ำไปในการคายน้ำในแต่ละวัน ทำให้ปริมาณน้ำของสารละลายธาตุอาหารลดลง ดังนั้นถ้าสังเกตเห็นว่าระดับของน้ำลดลง ให้เติมน้ำเปล่าเสมอเพื่อรักษาความเข้มข้นของสารละลายธาตุอาหารคงที่เสมอ ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูกได้
          2.การตรวจวัดสารละลายอาหาร เบื้องหลังของการประสพความสำเร็จในการปลูกพืชไม่ใช้ดินนี้คือ การตรวจวัดสารละลายอาหาร 2 ประการ ซึ่งจะได้กล่าวอธิบายการตรวจวัดทั้งสองประการนี้เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงความรู้พื้นฐานในเรื่องนี้
          (1) CF ( Conductivity Factor) การตรวจสอบประการแรกคือ การทดสอบความเข้มของสารละลายอาหาร วัดในรูปของ Conductivity Factor โดยเครื่องวัด CF หลักการวัดคือ ปกติน้ำสามารถนำไฟฟ้าได้เหมือนลวดทองแดงในสายไฟฟ้าทั่วๆ ไป น้ำสามารถนำไฟฟ้าได้มากหรือน้อยแค่ไหน วัดได้จากเครื่อง CF เครื่องวัดนี้ประกอบด้วย ขั้วประจุ 2 ขั้ว เมื่อนำไปจุ่มในน้ำที่ต้องการวัด แล้วเปิดสวิตซ์การทำงานของเครื่อง กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านน้ำจากขั้วประจุหนึ่งไปยังอีกขั้วหนึ่ง แล้วแสดงผลออกมาเป็นตัวเลขบอกค่าการนำไฟฟ้า ดังนั้นการวัดในน้ำบริสุทธิ์ก็จะสามารถอ่านค่าได้มากขึ้น หากมีการเติมเกลือละลายน้ำได้ลงไปมากขึ้นตามลำดับ
          เมื่อมีการเติมสารอาหารลงในน้ำก็เป็นผลทำนองเดียวกับการเติมเกลือลงในน้ำ ถ้ามีความเข้มข้นมากก็จะอ่านค่า CF ได้สูงมากตามไปด้วย
          หน่วยการวัด CF ของระบบปลูกพืชไม่ใช้ดินได้ออกแบบมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเข้มของสารอาหารสำหรับการปลูกพืชระบบนี้มีค่าตั้งแต่ 0 (น้ำบริสุทธิ์) ไปจนถึง 100 CF เป็นค่าที่ต้องการสูงสุด ดังนั้นสเกลจึงแบ่งเป็น 100 ส่วน แต่ละส่วนคือ 1 หน่วย CF
          พืชปลูกแต่ละชนิดเจริญได้ดีที่ CF มีค่าต่างกัน ตัวอย่าง เช่น ผักสลัดเจริญได้ดีที่ CFระหว่าง 6-12 มะเขือเทศต้องการ 22-28 เมื่อหัดเริ่มปลูกพืชใหม่ๆ นี้ อาจจะประเมินหาค่า CF อย่างง่ายๆ จากการใช้ค่าเฉลี่ยจากพืชปลูกแต่ละชนิดที่ต้องการปลูก

ภาพที่ 7 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตของต้นมะเขือเทศกับความเข้มข้น
สารอาหารต้นมะเขือเทศเจริญเติบโตได้ดีที่สารละลายอาหารเข้มข้นเหมาะสมระดับหนึ่งเท่านั้น

          ถ้าปลูกเป็นเชิงการค้าจะต้องการค่า CF ที่เหมาะสม จึงต้องปลูกและแยกระบบปลูกสำหรับพืชแต่ละชนิด เพื่อให้แน่ใจว่าพืชแต่ละชนิดจะได้รับสารอาหารที่เหมาะสม ทำให้มีการเจริญอย่างสูงสุด
          การวัดค่า CF กระทำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งบ่งบอกถึงความเข้มของสารอาหาร ดังนั้นถ้าต้องการให้สารอาหารเจือจางลง ทำได้โดยเติมน้ำเปล่าลงไป ส่วนการเติมสารอาหารมากขึ้น (เติมสารละลาย A และ B ปริมาณเท่าๆ กัน) จะทำให้ความเข้มของสารละลายอาหารสูงขึ้น สามารถวัดได้จากค่า CF และปรับให้มีค่าตามที่ต้องการได้
          (2) ความเป็นกรด ด่างของสารละลายอาหาร ( pH )การทดสอบประการที่สองของสารละลายอาหารคือ การตรวจสอบ pH ค่านี้บ่งบอกถความเป็นกรดหรือด่างของน้ำหรือสารละลาย ระดับค่า pH มีตั้งแต่ 0-14 น้ำบริสุทธิ์ (pH) คือเป็นกลาง ไม่เป็นกรดหรือด่าง pH ที่สูงกว่า7 จะเป็นด่างเพิ่มขึ้นไปจนถึง14
          พืชสามารถมีชีวิตอยู่ได้ที่ pH ตั้งแต่ 5 ไปจนถึง 7.5 ที่ต่ำกว่า 5 จะเป็นอันตรายทำให้เกิดอาการไหม้และเนื้อเยื่อรากถูกทำลาย ถ้า pH มากกว่า 7.5 ทำให้มีธาตุอาหารบางธาตุตกตะกอนจากสารละลายและเริ่มไม่เป็นประโยชน์ต่อพืช
          เหตุผลที่ว่าทำไม pH จึงมีความสำคัญต่อพืชทั้งการปลูกระบบไม่ใช้ดินและในดินคือ pH มีผลต่อความเป็นประโยชน์ของธาตุพืช pHจะต้องมีค่าที่เหมาะสมสำหรับความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารแก่พืช คืออยู่ที่ระดับ 6.0 - 6.5 ถ้าต้องการรักษาระดับ pH นี้คงไว้ก็จะต้องคอยตรวจวัด pH ของสารละลายอย่างสม่ำเสมอ
          โดยมากในขณะที่พืชกำลังเจริญเติบโตนั้น จะมีการใช้สารอาหารไปจากสารละลายอาหาร pH จะสูงขึ้นหรือเป็นด่าง ช่วง pH ที่เป็นสภาพตามแนวอุดมคติคือ 6.0-6.5 แต่ pH 6.3 นี้ถือว่าค่อนข้างจะเหมาะสมกว่า การปรับ pHของสารละลายนั้น โดยใช้สารละลายกรดหรือด่างที่เจือจางประมาณ 0.1% ( คือให้กรดหรือด่าง 1 ส่วนละลายในน้ำ 1000 ส่วนโดยปริมาณ ) เพื่อป้องกันการกัดกร่อนโลหะในระบบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อพืชหรือสารละลายอาหาร

ภาพที่ 8 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตของต้นมะเขือเทศกับความเป็นกรดด่าง (pH)
ของสารละลายอาหาร ต้นมะเขือเทศเจริญเติบโตได้ดีที่สารละลายอาหารมี pH เหมาะสมระดับหนึ่งเท่านั้น

3.ข้อแนะนำอื่นๆ
          1. ฉีดพ่นสารเท่าที่มีความจำเป็น หลีกเลี่ยงการฉีดพ่นมากเกินจนเกิดการไหลของสารฉีดพ่นเข้าไปในสารละลายอาหาร มีผลถึงเป็นพิษต่อระบบปลูกได้ เช่น การใช้สารคอบเปอร์ฉีดพ่นปนในระบบจนถึงระดับสูงมากทำให้ผลร่วงและพืชตาย
          2. พยายามคงรักษาอุณหภูมิราก ในช่วงกลางวันไม่ควรเกิน 35 ซ.
          3. ถ้าเป็นระบบควบคุมอัตโนมัติต้องหมั่นตรวจเช็คตัววัด CF และ pH ทุกๆ สัปดาห์โดยทำความสะอาดหัววัด CF และปรับเช็คตัววัด pH ทุกสัปดาห์
          4. ถ้ามีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นกับพืชปลูกก็ให้เปลี่ยนสารละลายอาหาร ชะล้างระบบด้วยน้ำเปล่าเป็นระยะเวลาหลายๆ ชั่วโมง จากนั้นจึงเติมสารละลายอาหารใหม่ ไม่ควรใช้น้ำเย็นในช่วงวันที่อากาศร้อน ซึ่งจะทำให้พืชช็อกจากสภาพอุณหภูมิได้

4.การเก็บเกี่ยวและปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต
          พืชผักที่ปลูกโดยระบบไม่ใช้ดินเหมือนกับพืชผักทั่ว ๆไป คือ เบาบาง เสียหายง่าย ตลอดจนภายหลังเก็บเกี่ยวก็จะสูญเสียน้ำทำให้เหี่ยวง่าย ดังนั้นจะต้องเก็บเกี่ยวและปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยวอย่างถูกต้องเพื่อลดการสูญเสียและยืดอายุของผลผลิต
          ผลผลิตต้องเก็บเกี่ยวตามความแก่ที่เหมาะสม ด้วยความประณีตและรวดเร็วรวมทั้งการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อคงความสดของผลผลิต ข้อแนะนำง่าย ๆ เกี่ยวกับการเก็บเกี่ยวและปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวมีดังนี้
          1. เก็บเกี่ยวในช่วงขณะที่อากาศเย็น นั่นคือควรเป็นช่วงเวลาเช้า เพราะมีอากาศไม่ร้อน ผักมีลักษณะอวบน้ำ สด สมบูรณ์
          2. ผักที่ปลูกโดยระบบไม่ใช้ดิน โดยทั่วไปนิยมเก็บเกี่ยวให้มีระบบรากติดด้วย เพื่อยืดอายุของผักและป้องกันการเหี่ยวอาจจะทำกระเปาะหุ้มรักษาความชื้นโดยเฉพาะส่วนรากไว้
          3. ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวแล้วควรวางไว้ในที่ร่มทันทีเท่าที่ทำได้
          4. ขณะขนส่งผลผลิตจากแปลงปลูกควรอยู่ในภาชนะปิดมิดชิดเพื่อลดการสูญเสียน้ำและหลีกเลี่ยงสภาพที่มีอุณหภูมิสูง
          5. ทำการลดความร้อนที่ติดมากับผลผลิตขณะเก็บเกี่ยวทันที (แช่น้ำเย็นหรือเป่าด้วยลมเย็นในกรณีที่ผลผลิตจะเสียหายถ้าเปียกน้ำ) ถือว่ามีความสำคัญมากต่อการยืดอายุของผลผลิต
          6. บรรจุผลผลิตในภาชนะหรือถุง ให้แน่นพอดีไม่ควรหลวมหรือเบียดอัดแน่นเกินไป เพื่อป้องกันการเสียดสีกันขณะขนส่งและส่งไปยังตลาดโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ และหลีกเลี่ยงสภาพที่มีอุณหภูมิสูง
          7. การเก็บรักษาผลผลิตควรเก็บในที่มีอุณหภูมิต่ำและความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ในสภาพที่ชื้นและเย็น เช่น นำผักห่อหุ้มด้วยกระดาษแล้วบรรจุในถุงพลาสติกเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส สำหรับผลผลิตที่มีถิ่น กำเนิดในเขตร้อน เช่น มะเขือเทศ ข้าวโพดฝักอ่อน ผักบุ้ง แต่ถ้าเป็นผลิตผลพวกที่มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาว เช่น ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 1-2 องศาเซลเซียส
          โดยสรุปแล้ว ถึงแม้ว่าไฮโดรโพนิคส์จะลงทุนแพง ต้องอาศัยทักษะความรู้อย่างพอเพียงในการดูแล ซึ่งเป็นข้อด้อยของระบบนี้ แต่อย่างไรก็ตามไฮโดรโพนิคส์กลับได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งจัดเป็นทางเลือกหนึ่งในการผลิตพืชที่มีคุณภาพ ผลผลิตสูงในขณะที่การปลูกพืชในดินเริ่มมีปัญหาเพิ่มมากขึ้นและยากในการแก้ไข



โดย ผศ.ดร.ทัศนุพันธุ์ กุศลสถิตย์
สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ (เทคโนโลยีการผลิตพืช)
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

จำนวนผู้เข้าชม 2365 คน
©2020 กลุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน (IT4CD)
All Rights Reserved. ติดต่อ orasa.t@nrsu.ac.th