เทคนิคการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน

          การปลูกพืชไม่ใช้ดินมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกให้เหมาะสมกับชนิดพืชที่ต้องการปลูก โดยจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องนำมาใช้ในแต่ละระบบการปลูกพืชต่างๆ เทคนิคการปลูกเป็นรายละเอียดต้องอาศัยการลงมือปฏิบัติจึงจะมีทักษะในการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินในระบบต่างๆ ทั้งยังต้องมีความรู้เกี่ยวกับพืชแต่ละชนิดที่ปลูก เพื่อให้เข้าใจลักษณะการเจริญเติบโตที่ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่จัดการได้อย่างเหมาะสม และยังสามารถวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1. การเลือกพื้นที่ปลูก การเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมีความสำคัญเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการปลูกพืช โดยพื้นที่ที่เหมาะสมควรมีลักษณะได้รับแสงอย่าง น้ำซึมผ่านได้ง่าย เป็นพื้นที่ที่มีระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า มีน้ำที่มีคุณภาพดี และมีปริมาณเพียงพอที่จะใช้ หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีลมพัดแรง

          2. การสร้างโรงเรือนและติดตั้งระบบปลูก 2.1 โรงเรือนและหลังคา ในการปลูกพืชไม่ใช้ดินขนาดใหญ่หรือเป็นการค้านั้น การสร้างโรงเรือนเป็นสิ่งจำเป็น โดยตัวโรงเรือนจะทำด้วยเหล็ก หรือไม้ก็ได้ขึ้นอยู่กับงบประมาณ สำหรับหลังคามักจะมุงด้วยพลาสติคสีขาวขุ่น มีเฉพาะหลังคาเพื่อกันน้ำฝน อาจใช้ตาข่ายมุ้งหรือซาแลนกั้นด้านข้าง และทำหลังคาให้มีความสูงต่ำไม่เท่ากัน เพื่อระบายความร้อน หรือทำหลังคาให้เป็นแบบมีปีกโค้ง เพื่อให้ลมด้านบนพัดผ่านนำความร้อนในโรงเรือนออกไปได้

ภาพโรงเรือนระบบปิดหลังคาโค้ง

         โรงเรือนสำหรับปลูกพืชไม่ใช้ดินจะนิยมสร้างตามความเหมาะสมที่จะวางรางปลูกในโรงเรือนได้โดยทั่วไปรูปทรงโรงเรือนจะเป็นรูปโค้งหรือแนวราบมีความสูงของหลังคาเพียงพอที่จะเข้าทำงานและระบายความร้อนได้ดี หลังคาอาจเปิดปิดอัตโนมัติโดยมีการควบคุมอุณหภูมิภายในที่เหมาะสมต่อการปลูกพืชภายในโรงเรือนจะมีการพรางแสงได้ในช่วงแดดร้อนจัดโดยนิยมพรางแสงในที่สูง หลังคานิยมใช้พลาสติกใสมีสารป้องกันแสงอุลตร้าไวโอเลตหน้ากว้างเต็มหลังคา ไม่ควรมีรอยต่อ รอบโรงเรือนควรมีมุ้งตาข่ายป้องกันแมลงได้และมีประตูเปิดเข้าได้และอาจมีซาแลนพรางแสงเพื่อลดอุณหภูมิอีกชั้นหนึ่ง
          2.2 การติดตั้งระบบปลูก ส่วนประกอบของระบบปลูกขึ้นอยู่กับระบบที่เราเลือก ซึ่งโดยทั่วไปในการปลูกพืชไม่ใช้ดินจะประกอบด้วย ระบบดีเอฟที, ดีอาร์เอฟที, เอ็นเอฟที, แอโรโพนิกส์ และระบบปลูกพืชในวัสดุปลูก ซึ่งโดยทั่วไปทุกระบบจะประกอบด้วยโต๊ะปลูกเป็นหลัก โต๊ะปลูกมักทำจากวัสดุที่มีความแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักของน้ำในระบบได้ เช่น เหล็ก หรือเหล็กกาวาไนซ์ โดยจะสร้างโต๊ะปลูกสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร กว้าง 1-2 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่โรงเรือนสำหรับกระบะปลูกจะแตกต่างกันดังนี้
          1. ระบบ ดีเอฟที กระบะปลูกจะใช้กระเบื้องแผ่นเรียบ หรือไม้อัดปูพื้นกระบะ แล้วใช้พลาสติกสีดำชนิดหนาปูทับพื้นกระบะและยกขอบสูงประมาณ 20 เซนติเมตร และใช้ประกับหนีบแผ่นพลาสติกกับขอบโต๊ะไว้ให้แน่นหนา ต่อท่อน้ำล้นเพื่อปรับระดับน้ำบริเวณปลายกระบะด้านหนึ่ง โดยใช้ท่อพีวีซีข้องอหรือข้อตรงสวมเข้ากับท่อระบายสารละลายที่ต่อลงไปยังถังเก็บสารละลายที่ใช้ในระบบ (ท่อน้ำล้นสามรถหมุนเอีบงขึ้นลงเพื่อปรับระดับความสูงของสารละลายในระบบได้ซึ่งการปลูกผักในระบบดีเอฟที จะปรับระดับสารละลายให้สูง 15-20 เซนติเมตร) สำหรับถังเก็บสารละลายจะตั้งอยู่ในระดับต่ำกว่ากระบะปลูก โดยในถังสารละลายจะมีปั๊มน้ำดูดสารละลายขึ้นผ่านท่อส่งสารละลายไปยังปลายกระบะปลูกอีกด้านหนึ่งของระบบ ระดับสารละลายในระบบจะเพิ่มสูงขึ้นจนล้นผ่านท่อน้ำล้นออกมายังถังเก็บสารละลายทำให้เกิดการไหลเวียนของสารละลายในระบบซึ่งเป็นการเพิ่มออกซิเจนในสารละลายให้กับพืชปลูก
          2. ระบบ ดีอาร์เอฟที กระบะปลูกติดตั้งเหมือนระบบดีเอฟที ทุกประการ แต่แตกต่างกันตรงที่การปลูกพืชในระบบดีอาร์เอฟที จะใช้ท่อปรับระดับสารละลาย (Nutrient Level Adjuster) แทนท่อน้ำล้น โดยระยะเริ่มแรกจะปรับระดับสารละลายให้มีความสูง 8 เซนติเมตร แล้วจึงค่อยๆลดระดับสารละลายลงเหลือ 4 เซนติเมตร เป็นการเพิ่มช่องว่างอากาศให้พืชสร้างรากอากาศ (ส่วนปลายรากพืชความยาว 4 เซนติเมตร ที่แช่อยู่ในสารละลายจะเพียงพอต่อการดูดธาตุอาหารพืชไปเลี้ยงลำต้นพืชได้) โดยมากระบะในระบบนี้จะมีความยาวไม่เกิน 30 เมตร
          3. ระบบ แอร์โรโพนิกส์ เป็นการปลูกพืชโดยให้ส่วนของรากลอยอยู่ในอากาศและฉีดพ่นสารละลายธาตุอาหารเป็นฝอยไปที่รากพืชโดยตรงเป็นช่วงเวลา รูปร่างของโครงสร้างการปลูกพืชในระบบนี้อาจมีได้หลายรูปแบบ เช่น แบบกล่องสี่เหลี่ยม แบบกระโจมสามเหลี่ยม เป็นต้น พืชในระบบนี้มีการเจริญเติบโตดี ตั้งตัวเร็วหลังจากย้ายปลูก เนื่องจากรากพืชไม่กระทบกระเทือน การแพร่กระจายของรากดี เนื่องจากไม่มีสิ่งกีดขวางเหมือนในดิน และรากพืชได้รับอากาศเต็มที่ การปลูกในระบบนี้เหมาะกับพืชต้นเตี้ย เช่น พืชผักต่างๆ ถ้าพืชต้นสูงจำเป็นต้องมีการค้ำยันหรือใช้เชือกยึด ระบบนี้เหมาะสำหรับงานวิจัยที่ศึกษาทดลองเกี่ยวกับการเจริญเติบโตหรือปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อราก เพราะเห็นการพัฒนาของรากได้ตลอดเวลา แต่ต้องลงทุนค่าใช้จ่ายในด้านวัสดุอุปกรณ์ค่อนข้างสูง ถ้าระบบการฉีดพ่อนอุดตัน จะทำให้รากพืชแห้งตายได้ไม่เหมาะจะปลูกเป็นการค้า
          4. ระบบเอ็นเอฟที จะใช้รางตื้นๆ กว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ของสูง 5 เซนติเมตร ความยาวตั้งแต่ 5-20 เมตร แต่ไม่ควรเกิน 20 เมตร เนื่องจากจะทำให้เกิดความแตกต่างของปริมาณออกซิเจนระหว่างหัวระบบและท้ายระบบ ติดตั้งให้มีความลาดเอียง 1-3% โดยให้สารละลายไหลผ่านรากพืชบริเวณปลายด้านที่สูงกว่า เป็นชั้นผิวบางๆ หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร

ภาพการติดตั้งขาโต๊ะปลูกผักสลัดระบบ NFT
ภาพการติดตั้งรางปลูกและถังเก็บสารละลายระบบ NFT

          บริเวณปลายอีกด้านหนึ่งจะต่อท่อรองสารละลายลงไปยังถังเก็บสารละลาย ซึ่งติดตั้งปั๊มดูดสารละลายไหลวนขึ้นไปอีก นอกจากนี้อาจประยุกต์ใช้ท่อพลาสติกพีวีซีผ่าครึ่ง หรือแผ่นกระเบื้องแบบลอนและปูด้วยพลาสติกสีดำ เพื่อป้องกันการกัดกร่อนจากสารละลายธาตุอาหารพืชเป็นรางปลูกก็ได้
          5. ระบบ ปลูกพืชในวัสดุปลูก เป็นการปลูกโดยใช้วัสดุปลูกทำหน้าที่แทนดิน สำหรับให้รากยึดและค้ำจุนต้นพืช วัสดุปลูกที่นิยมใช้มักมีความเป็นกลาง ไม่มีธาตุอาหาร ไม่เป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของพืชและหาได้ง่ายในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น แกลบ ขุยมะพร้าว ขี้เลื่อย เปลือกไม้ ทราย กรวด ใยหิน เพอร์ไลท์ เวอร์มิคิวไลท์ เป็นต้น โดยจะเรียกชื่อระบบตามวัสดุนั้นๆ เช่น ถ้าใช้ทรายแทนดิน ก็จะเรียกระบบนี้ว่า Sand culture ข้อดีของระบบนี้คือ แม้ว่าระบบการให้น้ำชำรุดวัสดุปลูกจะทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บน้ำให้พืชได้ เป็นระบบที่ทำง่าย ไม่มีปัญหาขณะปลูก พืชเจริญเติบโตได้ดี

ภาพการติดตั้งระบบน้ำหยดในระบบการปลูกพืชในวัสดุปลูก

3. การเพาะกล้า
          ขั้นตอนการเพาะกล้าสำหรับการปลูกพืชในสารละลาย (Water Culture)
         1. นำแผ่นฟองน้ำหนา 1 นิ้ว มากรีดเป็นตารางขนาด 1 ตารางนิ้ว โดยไม่ให้ขาดออกจากกัน (ลึกประมาณ ¾ ของฟองน้ำ)

          2. กรีดร่องตามเส้นทแยงมุมของแต่ละช่องให้ลึกพอหยอดเมล็ดผักได้
          3. ใส่เมล็ดผักลงไปในร่องที่กรีดไว้ 1 ร่องต่อ 1 เมล็ด (สำหรับผักสลัด) หรือร่องละหลายเมล็ดสำหรับผักทรงพุ่มแคบ เช่น ผักชี ผักบุ้ง ฯลฯ
          4. นำฟองน้ำที่ใส่เมล็ดผักแล้วไปใส่ในถาดเพาะกล้าและเติมน้ำในถาดให้ท่วมฟองน้ำ
          5. เก็บถาดเพาะไว้ในที่ทึบแสงจนเมล็ดเริ่มงอก
          6. เมื่อเมล็ดเริ่มงอกให้นำถาดเพาะออกมาให้ได้รับแสงเพื่อป้องกันการยืดของต้นกล้า และเติมสารละลายปุ๋ยเจือจาง (ค่า EC=0.8) เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2-3 ใบ จึงย้ายปลูกได้

ภาพการเพาะเมล็ดผักสลัดลงบนฟองน้ำเพาะเมล็ดสำเร็จรูป

4. การย้ายต้นกล้า
          การย้ายต้นกล้าไปลงปลูกในระบบที่จะเริ่มให้สารละลายธาตุอาหารที่มีความเข้มข้น เพื่อให้พืชมีการเจริญเติบโตตามพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมที่จัดสรร ระยะย้ายกล้าจึงมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชต่อไป เรื่องที่สำคัญคือ การระมัดระวังรากของต้นกล้า ต้องย้ายกล้าด้วยความรวดเร็วและไม่ให้รากกระทบกระเทือน เพราะถ้ารากต้นกล้าขาดจะทำให้ต้นกล้านั้นชะงักการเจริญเติบโตหรือไม่สามารถเจริญเป็นต้นที่สมบรูณ์ได้ ก่อนการย้ายกล้า 1-2 วัน จะต้องทำให้ต้นกล้าแข็งแรง (hardening) คือ การให้แสงเพิ่มมากขึ้น รดน้ำให้น้อยลง เพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรงก่อนที่จะนำไปปลูกข้างนอกโรงเรือนอนุบาลต้นกล้า และต้องย้ายกล้าในตอนเย็นประมาณ 16.00 นาฬิกา เพื่อให้ต้นกล้ามีเวลาปรับตัวในช่วงกลางคืนและตอนเช้าของวันใหม่ หากทำการย้ายกล้าในเวลากลางวันที่มีแสงแดแรงจะทำให้ต้นกล้าสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว เหี่ยว และฟื้นตัวได้ยาก

ภาพการย้ายต้นกล้าผักสลัด อายุ 21 วันหลังเพาะเมล็ด ลงโต๊ะปลูกระบบ NFT

5. การควบคุมค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) และค่าการนำไฟฟ้า (EC)
          5.1 ค่า pH มีความสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตของพืชในด้านความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืชในสารละลาย โดยทั่วไปสารละลายควรมี pH อยู่ในช่วง 5.5-6.5 จะเป็นช่วงที่เหมาะสม คือ ธาตุอาหารอยู่ในรูปที่พืชนำไปใช้ได้มากที่สุด ถ้า pH ของสารละลายมีค่าต่ำกว่า 4 จะเป็นอันตรายต่อรากพืช ถ้า pH มีค่าสูงกว่า 7 ติดต่อกันนานเกิน 2-3 วัน จะทำให้การดูดใช้ ฟอสฟอรัส เหล็ก และแมงกานีส ผิดปกติ

ตารางการปรับระดับ pH ในสารละลายธาตุ มีผลกระทบและแนวทางแก้ปัญหาดังตาราง
ปัญหาที่พบ
ผลกระทบ
แนวทางแก้ปัญหา
ใช้กรดไฮโดรคลอริก กรด muriatic มีความเค็มสูง
ทำให้คลอรีนสูง
ใบพืชไหม้ควรเลิกใช้
ใช้กรดฟอสฟอริก
เกิดฟอสฟอรัสมากเกินไป
ควรผสมกรดฟอฟอริกกับไนตริกในสารละลาย 2 ส่วนต่อน้ำ 15 ส่วน
กรดไนตริก
ไม่มีปัญหากับต้นพืช แต่มีปัญหากับผู้ปลูก
ให้ใช้ 1 ส่วน น้ำ 5 ส่วน เพื่อลดการเกิดละอองไอ
ปัญหาการให้สารกำจัดเชื้อรา ยากำจัดศัตรูพืชในสารละลายหรือเพิ่มปุ๋ยให้ผลผลิต
ต้นได้รับความเสียหาย
ใช้ Agra/600 ซึ่งมาปรับสารละลาย bio acids
มีคลอรีนในสารละลาย
ทำให้รากไหม้ได้ ประสิทธิภาพการเจริญลดลง
ควรกรองน้ำถ่านคาร์บอนก่อนใส่สารละลายปุ๋ย

5.2 ค่าการนำไฟฟ้า (EC) คือ ค่าที่บอกความเข้มข้นของสารละลายมีหน่วยเป็นมิลลิโมลต่อเซ็นติเมตร (mmho/cm) หรือมิลลิซีเมนต์ต่อเซ็นติเมตร (mS/cm) ถ้าค่า EC สูงแสดงว่าสารละลายมีความเข้มข้นสูง คือ มีธาตุอาหารละลายอยู่มาก ค่า EC ของสารละลายในระบบการปลูกพืชไม่ใช้ดิน สำหรับผักกินใบ เช่น ผักกาด ผักสลัด คะน้า กวางตุ้ง กวางตุ้งฮ่องเต้ คื่นช่าย ฯลฯ สามารถใช้ค่า EC ที่ระดับเดียวกันได้ ส่วนในพืชผักกินผล เช่น มะเขือเทศ พริกหวาน แตงกวา แตงเทศ และแคนตาลูป จะต้องมีการปรับค่า EC หลายระดับเพื่อเพิ่มความหวานของผล การเพิ่มค่า EC ในสารละลายทำได้โดยการเติมสารละลายธาตุอาหารเข้มข้น (stock solution) ที่เตรียมไว้ลงในถังเก็บสารละลายในระบบปลูก ค่า EC ของสารละลายในระบบก็จะเพิ่มขึ้นมากหรือน้อยตามปริมาณของสารละลายธาตุอาหารที่ใส่ลงไป
          การปรับค่า EC ในสารละลาย เมื่อเริ่มให้สารละลายกับพืชในระบบปลูก พืชจะเริ่มดูดธาตุอาหารไปใช้ ซึ่งในการดูดธาตุอาหารพืชจะดูดพร้อมกับน้ำที่ให้ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปน้ำในระบบจะลดลงทำให้ต้องเติมน้ำเพิ่ม ซึ่งการเติมน้ำแต่ละครั้งจะส่งผลให้ค่า EC ในถังสารละลายมีค่าลดต่ำลง จำเป็นต้องเติมสารละลายธาตุอาหารเข้มข้น (สต็อค A และ B) ลงไปเพื่อเพิ่มค่า EC ในการเติมจะค่อยๆเติมสต็อค A และ B อย่างละ 100 มิลลิลิตร ก่อน พร้อมกับวัดค่า EC พร้อมกันไปจนกระทั่งได้ค่า EC ที่ต้องการจึงหยุดเติมสารละลายธาตุอาหารเข้มข้น ในระยะการย้ายกล้าใหม่จะปรับค่า EC เท่ากับ 1.0 มิลลิซีเมนต์ต่อเซ็นติเมตร และจะค่อยๆปรับค่า EC ให้มีค่าสูงขึ้นเป็น 1.3 มิลลิซีเมนต์ต่อเซ็นติเมตร ในสัปดาห์ต่อไป และปรับให้ค่า EC เป็น 1.5 มิลลิซีเมนต์ต่อเซ็นติเมตร เมื่อพืชเจริญเติบโตเต็มที่แล้วในสัปดาห์ที่ 3-5 (ตามระยะการเจริญเติบโตของพืช)

ภาพเครื่องวัดค่าการนำไฟฟ้า (EC) ของสารละลายธาตุอาหาร

6. การจัดการดูแลต้นพืชพิเศษ
          การปลูกพืชบางชนิดต้องการดูแลพิเศษนอกเหนือจากการควบคุมความเป็นกรด-ด่าง ค่าการนำไฟฟ้าของสารละลาย ผักสลัดต้องดูแลความร้อนจากสภาพอากาศ โดยจะต้องจัดการให้เกิดความร้อนน้อยที่สุดแต่ได้รับแสงมาก เพื่อให้เกิดกิจกรรมการสังเคราะห์ด้วยแสง ความร้อนของสารละลายที่มีผลต่อการหายใจของระบบรากพืช

ภาพการเปิดระบบพ่นหมอก เพื่อลดอุณหภูมิในระบบ NFT

กรณีไม่มีการตรวจวัดความเข้มข้นสารละลาย
          ในระบบการปลูกพืชไม่ใช้ดินกรณีปลูกตามครัวเรือน แนะนำวิธีที่สะดวกให้ผู้ปลูกใช้วิธีการผสมสารละลายตามอัตราส่วนที่แนะนำว่าควรใช้สารละลายปุ๋ย หรือปริมาณาธาตุใดในการผสมในถังผสมสารละลายหลังผสมกันโดยไม่มีการตรวจวัดเมื่อเวลาผ่านไปสารละลายถูกพืชดูดไปใช้จึงมีการเพิ่มสารละลายปุ๋ยเพื่อทดแทนส่วนที่พืชใช้ไป จึงมีผลให้ระดับความเข้มข้นของสารละลายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีผลให้ค่า EC สูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจากมีการสะสมอิออนธาตุที่พืชไม่ต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีระดับมากขึ้นทำให้ธาตุอาหารบางตัวพืชเอาไปใช้ไม่ได้หรืออาจมีการตกตะกอน จะทำให้ต้นพืชได้รับควาเมสียหายหรือผลผลิตลดลง นอกจากนี้รากพืชอาจมีการสะสมของเสียบริเวณรากพืชจึงควรมีการถ่ายเปลี่ยนน้ำทุก 7 -10 วัน หรืออาจค่อยๆ เปลี่ยนเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเติบโตของต้นพืชมากเกินไป ซึ่งในการถ่ายเปลี่ยนสารละลายแต่ละครั้งจะทำให้อิออนธาตุที่ไม่เป็นประโยชน์ลดปริมาณลงได้
บทสรุป
          เทคนิคการปลูกพืชไม่ใช้ดินมีหลากหลายระบบให้เลือกขึ้นอยู่กับชนิดของพืชที่ปลูกว่าเหมาะกับระบบการปลูกพืชไม่ใช้ดินแบบใด ซึ่งต้องมีความรู้เกี่ยวกับวัสดุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ให้เหมาะสม การทำความสะอาดก่อนการนำมาใช้เพื่อป้องกันการปนเปื้อน เทคนิคการปลูกพืชไม่ใช้ดิน เช่น การเพาะเมล็ด การย้ายกล้า การปลูก และการดูแลจัดการให้เหมาะสม การจัดการคุณภาพน้ำที่นำมาใช้ผสมสารละลายเป็นหัวใจสำคัญของการปลูกพืชไม่ใช้ดิน ระดับความเป็นกรด-ด่างของสารละลายมีผลต่อความเป็นประโยชน์ของสารละลายต่อการเจริญเติบโตของพืช วิธีควบคุมความเข้มข้นของสารละลายต้องมีการตรวจวัดเป็นประจำเพื่อความสมดุลของธาตุอาหารในสารละลายหากพืชได้รับธาตุอาหารที่ไม่สมดุลจะทำให้พืชแสดงอาการชะงักการเจริญเติบโตได้ หากไม่มีเครื่องตวจวัดความเข้มข้นของสารลละลายต้องทำการเปลี่ยนสารละลายทุก 7-10 วัน เพื่อทำให้ธาตุที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อพืชลดลง

โดย อาจารย์นพดล ชุ่มอินทร์
สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ (เทคโนโลยีการผลิตพืช)
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

จำนวนผู้เข้าชม 2344 คน
©2020 กลุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน (IT4CD)
All Rights Reserved. ติดต่อ orasa.t@nrsu.ac.th