การขยายเชื้อราปฏิปักษ์เพื่อการควบคุม โรคและแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี

การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี เป็นกรรมวิธีที่นำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ได้แก่ ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อโรค มาช่วยกำจัดศัตรูพืช เพื่อลดการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม การขยายเชื้อราปฏิปักษ์ชนิดสดเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตพืชจากการลดการใช้สาเคมีกำจัดศัตรูพืช ตามแนวทางศาสตร์พระราชา

การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี

การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี เป็นกรรมวิธีที่นำสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยนำเอาแมลงและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ได้แก่ ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อโรค มาช่วยกำจัดศัตรูพืช วิธีการนี้เป็นวิธีการดั้งเดิมซึ่งมนุษย์มีแนวความคิดที่จะใช้สิ่งที่มีประโยชน์ในธรรมชาติมาช่วยปราบศัตรูพืช เพื่อลดการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

ในปัจจุบันมีการนำเชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ เช่น เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส มาใช้ในการควบคุมหรือกำจัดแมลงศัตรูพืช รวมทั้งโรคพืชต่างๆ ได้หลายชนิด และได้มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง กำจัดโรคพืชออกวางจำหน่ายเป็นการค้าอย่างกว้างขวาง ซึ่งข้อดีของจุลินทรีย์ คือ มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ และสิ่งแวดล้อม เชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถนำมาผลิตเพื่อใช้ควบคุมศัตรูพืช มีดังต่อไปนี้

1. เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma harzianum) ใช้ควบคุมโรครากเน่า-โคนเน่า โรคแอนแทรกโนส โรคใบจุด และใบไหม้ต่างๆ ของพืช เป็นต้น

2. เชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) ใช้กำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นต่างๆ เพลี้ยไฟ และไรแดง เป็นต้น

3. เชื้อราเมตตาไรเซี่ยม (Metarhizium anisopliae) ใช้ควบคุมด้วงหนวดยาวอ้อย แมลงนูนหลวง ด้วงแรด และแมลงปีกแข็งต่างๆ เป็นต้น

4. เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูรินจิเอ็นซิส (Bacillus thuringiensis) ใช้ป้องกันกำจัดหนอนศัตรูพืชเช่นหนอนกระทู้ต่างๆ หนอนใยผัก หนอนเจาะฝักและลำต้น และด้วงหมัดผัก เป็นต้น

5. เชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทีลิส (Bacillus subtillis) ใช้ควบคุมโรครากเน่า-โคนเน่าจากเชื้อราไฟทอปธอร่า โรคกาบใบแห้งและโรคไหม้ในข้าว เป็นต้น

6. เชื้อไวรัส เอ็น พี วี (NPV) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคกับหนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม และหนอนเจาะสมอฝ้าย เป็นต้น

โดย ผศ.ดร.ปัณณวิชญ์ เย็นจิตต์
สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ (เทคโนโลยีการผลิตพืช)
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์


จำนวนผู้เข้าชม 6635 คน
©2020 กลุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน (IT4CD)
All Rights Reserved. ติดต่อ orasa.t@nrsu.ac.th