เทคนิคการและวิธีให้ต้นกล้วยสับในไก่ไข่

ใช้อย่างไรให้เกิดผลดี ใช้อย่างไรให้ไก่ออกไข่ได้ปกติการเลี้ยงไก่ไข่ด้วยต้นกล้วยสับดี แต่ถ้าเราใช้ไม่ถูกวิธีจะทำให้ไก่ไม่ออกไข่

ข้อห้ามเกี่ยวกับการใช้ต้นกล้วย

ห้ามให้ต้นกล้วยสับตอนเช้า ไก่ไข่ต้องการโปรตีนจากอาหารสำเร็จรูปเพื่อนำไปผลิตไข่ อาหารมื้อแรกของวันเป็นอาหารที่สำคัญที่สุดหากไก่ไข่ได้รับอาหารสำเร็จรูปในมื้อเช้าไม่เพียงพอจะทำให้ไก่ไข่ได้ช้าลงจากปกติไข่ได้ทุกวัน ก็จะส่งผลให้ไก่ไข่ออกไข่สองหรือสามวันครั้ง ดังนั้นแนะนำให้งดต้นกล้วยในมื้อเช้า เพราะว่า ไก่จะเลือกกินต้นกล้วยก่อนอาหารสำเร็จรูป พอกินต้นกล้วยอิ่ม ไก่จะหยุดกินอาหารสำเร็จรูปไม่กินอาหารสำเร็จรูปก็ไม่ออกไข่

ห้ามผสมต้นกล้วยกับอาหารสำเร็จรูป

การผสมต้นกล้วยสับพร้อมอาหารสำเร็จรูป หรือการคั้นทั้งสองอย่างรวมกัน เป็นเหมือนการล้างสารอาหารในเม็ดอาหารออกไป น้ำในต้นกล้วยสับนั้น มีมากพอที่จะละลายออกมาล้างสารอาหารออกไปเป็นก้อนตะกอนใต้กาละมัง ไก่ไม่สามารถที่จะกินอาหารส่วนนั้นได้ จึงทำให้อาหารที่เราให้ไก่กิน ไม่เพียงแค่โภชนาการไม่เพียงพอแล้ว ยังทำให้เกิดการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์

ห้ามให้ต้นกล้วยกับไก่อายุไม่เกิน 7 เดือน

ไก่ไข่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 7 เดือนช่วงนี้ ยังต้องการโปรตีนเพื่อนำไปเสริมสร้างระบบรังไข่ หากเราให้ต้นกล้วยเร็วเกินไป และให้อย่างผิดวิธีนั้น ไก่อาจจะเจริญเติบโตช้า และออกไข่ได้ช้าแทนที่ไก่จะเริ่มออกไข่ช่วงอายุได้ 5 เดือนไปแล้ว หรืออาจจะไม่ออกไข่เลย

ห้ามให้ต้นกล้วยกับไก่ที่ยังไม่ให้ไข่

ไก่ไข่ที่ยังไม่ออกไข่ไม่แนะนำให้เสริมต้นกล้วยสับ เพราะจะทำให้ไก่ไม่กินอาหารสำเร็จรูปแล้ว เป็นสาเหตุจากหลักที่ทำให้ไก่โภชนาการไม่เพียงพอ หรือไก่เป็นโรคเรื้อรัง หากไก่ยังเล็กอยู่ หรือไก่ยังอ่อนแออยู่ สิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับไก่ไข่ช่วงนั้นคือ โปรตีนที่เพียงพอและวิตามินแร่ธาตุต่าง ๆ เท่านั้นแต่ถ้าถามว่า แล้วต้นกล้วยสับทำหน้าอะไรกับไก่ไข่ ต้นกล้วยสับทำให้ไก่อิ่ม กินง่าย แก้ร้อน และอร่อย ส่วนหลักโภชนาการในต้นกล้วยมีน้อยมาก

ห้ามให้ต้นกล้วยสับมากเกินไป

การให้ต้นกล้วยสับเกินพอดี ไม่เพียงแต่ทำให้ไก่เบื่ออาหารแล้ว การเป็นโรคเบื่ออาหารของไก่ จะทำให้ไก่หยุดไข่ได้ เนื่องจากร่างกายขาดโปรตีน ไก่ติดต้นกล้วยสับสามารถเกิดขึ้นได้กับคนเลี้ยงไก่ทุกคนและจะมีผลเสียตามมาทั้งในด้านการหยุดให้ไข่ และสุภาพจิตผู้เลี้ยงไก่ได้ ในระยะยาว

ห้ามไก่กินต้นกล้วยถ้าไม่กินอาหาร

เมื่อไก่ที่เลี้ยงไว้เกิดเป็นโรคติดต้นกล้วยสับ อย่างรุนแรง ไก่จะหยุดกินอาหารสำเร็จรูปและจะรอต้นกล้วยสับอย่างเดียว ส่งผลให้อาหารสำเร็จรูปเหลือ และไก่หยุดให้ไข่ คนเลี้ยงก็ท้อเพราะไม่มีไข่ขาย วิธีแก้ง่าย ๆ คือ หากไก่เริ่มจะกินอาหารสำเร็จรูปได้น้อยลงให้เราลดปริมาณต้นกล้วยสับลงเนื่องจากไก่กินอาหารได้น้อยลงอาจจะมีส่วนจากไก่อิ่มต้นกล้วย มื้อเที่ยงให้ผู้เลี้ยงไก่งดต้นกล้วยสับไปก่อน จนกว่าไก่จะกินอาหารสำเร็จรูปตามปกติ และออกไข่ได้ตามปกติครับ ถึงเริ่มให้ต้นกล้วย

วิธีการให้ต้นกล้วยไก่ไข่ที่ถูกต้อง

ให้ต้นกล้วยหมักเป็นอาหารเสริม การให้ต้นกล้วยหมักสูตรเร่งด่วนทำได้ง่าย ๆ โดยการนำต้นกล้วยพร้อมใบและก้านสับรวมกันให้ละเอียด ใบต้นกล้วย จะมีสารอาหารมากกว่าลำต้น หากนำมาคลุกเคล้ารวมกันกับลำต้นจะทำให้ไก่ได้รับโปรตีนจากใบเพิ่มขึ้นหลังจากเราสับต้นกล้วยและใบเสร็จแล้วนั้น สามารถผสมวิตามินไก่คลุกเคล้า ก่อนนำไปให้ไก่กินได้อีกส่วนวัตถุดิบที่เราสามารถนำมาปรุงต้นกล้วยสับนั้น มีดังนี้ ไฮโคมิกซ์ไก่ (ช่วยให้เปลือกหนา) EM (ช่วยเพิ่มความหอมและช่วยย่อย) กากน้ำตาล (ช่วยเพิ่มรสชาติ) ไวต้าเวท (เสริมวิตามิน กลิ่นหอม) มัลติลิมอี (เสริมวิตามิน ช่วยย่อย) โดยผสมวิตามินเหล่านี้ในต้นกล้วยสับตามความเหมาะสม และให้ไก่กินในช่วงตอนเที่ยง

ให้ต้นกล้วยไก่มื้อเที่ยงมื้อเดียว

สูตรการให้ต้นกล้วยสับกับไก่ไข่นั้น สมควรที่จะให้ไก่ได้แค่ช่วงเที่ยง เพราะต้นกล้วยสับจริง ๆ แล้ว เหมือนเป็นอาหารสำหรับดับร้อนและแก้เครียดสำหรับไก่ไข่มากกว่าเป็นอาหารหลัก หากให้ต้นกล้วยสับกับไก่ทั้ง 2 หรือ 3 มื้ออาหารจะส่งผลให้สารอาหารไม่เพียงแต่ทำให้ไก่ออกไข่ไม่คงที่และสม่ำเสมอ และอาจจะทำให้ไก่เป็นโรคเบื่ออาหารสำเร็จรูปและให้ไข่ได้น้อยลงได้อีกด้วย

ให้อาหารมื้อเดียวแล้วให้ต้นกล้วย

การให้ต้นกล้วยสับตอนเย็น เหมาะสำหรับผู้ที่เลี้่ยงไก่ไข่ในปริมาณน้อย เช่น 10-20 ตัว สูตรการให้อาหารผู้ที่เลี้ยงไก่น้อยนั้น คือ มื้อเช้าให้อาหารสำเร็จรูป 100% โดยไม่ต้องแบ่งอาหารเป็นเช้า-เย็น หรือ เช้า เที่ยง เย็น แต่ให้อาหารรอบเดียวในตอนเช้า แล้วให้ต้นกล้วยสับอีกรอบตอนเย็น วิธีนี้จะช่วยทำให้ไก่ออกไข่ได้คงที่และช่วยให้ไก่ทุกตัวกินอาหารอย่างเพียงพอหากเรามีไก่น้อยแล้วแบ่งอาหารหลาย ๆรอบอาจจะทำให้ไก่แย่งอาหารกันส่งผลให้ไก่บางตัวกินอาหารไม่เพียงพอ

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชนณภัส หัตถกรรม
สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ (เทคโนโลยีการผลิตสัตว์)
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

จำนวนผู้เข้าชม 897 คน
©2020 กลุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน (IT4CD)
All Rights Reserved. ติดต่อ orasa.t@nrsu.ac.th