แนวการเลี้ยงปลาร่วมกับการปลูกพืชแบบระบบอควาโปนิกส์ (aquaponics)

          ปัจจุบันการเพาะเลี้ยงสัตว์มีการเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก และได้มีการพัฒนาไปเป็นอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคและส่งออก การเลี้ยงแบบธรรมดาในอดีตถูกแทนที่ด้วยการเลี้ยงแบบกึ่งพัฒนาและแบบพัฒนา ซึ่งมีความต้องการป้อนอาหารที่สูง ส่งผลให้เกิดปัญหาการเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงจากปริมาณของเสียที่สะสมภายในบ่อ ของเสียมีความสำคัญและส่งผลกระทบอย่างมากต่อสัตว์น้ำ ได้แก่ ของเสียที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ ทั้งในรูปของสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ ที่เกิดจากการขับถ่ายของสัตว์น้ำและจากการย่อยสลายของอาหารที่เหลือจากการบริโภค ซึ่งส่งผลให้สัตว์น้ำมีความต้องการออกซิเจนสูงขึ้น เกิดอาการเครียด ส่งผลให้เสี่ยงต่อการติดโรค และนอกจากจะทำให้คุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงลดลงแล้ว การปล่อยน้ำทิ้งที่มีของเสียไนโตรเจนเหล่านี้ลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจะกระตุ้นปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication) ซึ่งทำให้พืชน้ำและจุลสาหร่ายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนปริมาณออกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอ เกิดการเน่าเสีย และทำให้เกิดความตื้นเขินในระยะยาว ด้วยเหตุนี้การเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบปิดที่มีการบำบัด และหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงได้แล้วยังเป็นการลดผลกกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยน้ำจากบ่อเลี้ยงอีกด้วย

โดย ผศ.จามรี เครือหงษ์
สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ (เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ)
คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

จำนวนผู้เข้าชม 484 คน
©2020 กลุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน (IT4CD)
All Rights Reserved. ติดต่อ orasa.t@nrsu.ac.th