แนวคิดเกี่ยวกับการถนอมผัก

         การเก็บรักษาผัก จะต้องเก็บให้เหมาะสมกับชนิดของผักนั้นๆ ซึ่งผักสามารถ แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ ผักที่เน่าเสียง่าย ผักที่เก็บได้ในระยะเวลาจำกัด ผักที่เก็บไว้ได้นานกว่าผักอื่นๆ

          ผักที่เน่าเสียง่าย ได้แก่ เห็ด ผักชี ผักกาดหอม ถั่วงอก ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ชะอม เป็นต้น ผักเหล่านี้จะคงสภาพเดิมอยู่ในระยะเวลาสั้น แม้จะเก็บเข้าตู้เย็นก็ ไม่อาจจะช่วยยืดอายุการเก็บได้มากนัก

          ผักที่เก็บได้ในระยะเวลาจำกัด ตัวอย่างเช่น ผักกาด ผักคะน้า มะเขือเทศ และผักอื่นๆ ผักส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งควรเก็บในตู้เย็น

          ผักที่เก็บไว้ได้นานกว่าผักอื่น ๆ เช่น ฟัก แฟง เผือก มัน ฟักทอง เป็นต้น ผักกลุ่ม นี้มีเปลือกหนา จึงคงทนต่อการเก็บได้นานกว่าผักใบ ไม่จำเป็นต้องเข้าตู้เย็น

          การเก็บผัก นั้น ควรแยกเก็บตามชนิดของผัก ไม่ควรเก็บผัก และผลไม้ให้อยู่ด้วยกัน เพราะทำให้เกิดการเน่าหรือเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเก็บหอมใหญ่กับมันฝรั่งให้อยู่ปนกัน หอมใหญ่จะเป็นตัวเร่งให้มันฝรั่งเน่าเร็วขึ้น ถ้าเก็บแอปเปิ้ลไว้กับแครอท แก๊สเอ็ททีลีน (ethylene gas) ที่แอปเปิ้ลคายออกมาจะทำให้แครอทมีรสขมได้ ดังนั้นจึงควรเก็บผักแต่ละชนิดโดยแยกกันเป็นสัดส่วน

         นอกจากนั้น ก่อนจะเก็บ ควรล้างผักให้สะอาดเสียก่อน เพราะผักที่ซื้อจากตลาดขายปลีก มักเปรอะเปื้อนน้ำที่ผู้ขายรด ราด หรือล้าง เพื่อให้ผักแลดูสะอาดน่าซื้อ การล้างนั้นควรล้างทั้งต้นด้วยน้ำสะอาด แล้วผึ่งให้สะเด็ดน้ำจริงๆ จึงเก็บในลิ้นชัก หรือช่องสำหรับเก็บผักโดยตรง และควรแยกผักใส่ถุงพลาสติกให้เป็นหมวดหมู่ด้วย จะช่วยให้เก็บได้นานขึ้น

โดย ThaifoodDB

จำนวนผู้เข้าชม 141 คน
©2020 กลุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน (IT4CD)
All Rights Reserved. ติดต่อ orasa.t@nrsu.ac.th