ปลากัด มีชื่อสามัญว่า Siamese Fighting Fish เป็นปลาสวยงามที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยมานานแล้ว เนื่องจากเป็นปลาสวยงามที่นอกจากจะมีสีสันสดเข้มสวยงามสะดุดตามากแล้ว ยังเป็นปลาที่จัดว่าเป็นยอดนักสู้ตัวฉกาจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปลากัดที่ไปจากประเทศไทยจัดว่าเป็นปลาที่กัดเก่งและมีความทรหดมากที่สุด ทำให้ได้รับความนิยมจากประเทศต่างๆทั่วโลก ในประเทศไทยนิยมเลี้ยงปลากัดมานานแล้ว และได้เน้นเป็นการเลี้ยงเพื่อเกมกีฬาโดยเฉพาะมีการจัดตั้งเป็นบ่อนการพนัน ทางราชการจะมีการอนุญาตให้เปิดสถานที่สำหรับเดิมพันการกัดปลา เรียก บ่อนปลากัด หรือ บ่อนกัดปลา มาตั้งแต่โบราณจนกระทั่งปัจจุบัน

การเลี้ยงปลากัดเป็นปลาสวยงามมักนิยมเลี้ยงในขวดหรือโหลขนาดเล็ก ไม่นิยมเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่น เพราะเป็นปลาที่ชอบสร้างอาณาเขตและมักจะไล่กัดปลาที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน ซึ่งในช่วงนี้ปลาจะมีสีสดเข้มสวยงาม แต่ถ้านำไปเลี้ยงกับปลาขนาดใหญ่ปลาจะตื่นตกใจ เหมือนกับการแพ้คู่ต่อสู้ ในช่วงนี้ปลาก็จะสีซีดดูไม่สวยงาม จึงจำเป็นต้องเลี้ยงปลากัดไว้เพียงตัวเดียวในภาชนะที่ไม่ใหญ่มากนัก ปลาก็จะมีความรู้สึกว่าสามารถสร้างอาณาเขตของตัวเองไว้ได้ก็จะมีสีสันสดใสสวยงาม จัดว่าเป็นปลาที่ติดตลาด ทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ สามารถจำหน่ายได้ดีตลอดปี โดยเฉพาะเด็กจะชอบหาซื้อปลากัดไปเลี้ยง เพื่อนำไปกัดแข่งขันกัน แล้วก็หาซื้อปลาตัวใหม่อยู่เสมอ

ประวัติของปลากัด ปลากัดเป็นปลาพื้นบ้านของไทย ในธรรมชาติชอบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง เช่น หนอง บึง หรือชายทุ่งนา โดยมักพบตามชายฝั่งที่ตื้นๆและมีพรรณไม้น้ำมาก เป็นปลาที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวก Labyrinth Fish ได้แก่ พวกปลากระดี่ทั้งหลาย ซึ่งเป็นกลุ่มปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจ ทำให้ปลาอาศัยอยู่ในที่มีออกซิเจนต่ำได้ จึงทำให้สามารถเลี้ยงปลากัดในขวดต่างๆที่มีปากขวดแคบๆได้ ปลากัดจัดว่าเป็นปลาที่กินเนื้อเป็นอาหาร โดยจะชอบกินแมลงและตัวอ่อนของแมลงต่างๆ (Insectivores)

ลักษณะรูปร่างของปลากัด ปลากัดจัดเป็นปลาขนาดเล็ก ลำตัวมีความยาวประมาณ 5 - 7 เซนติเมตร ลักษณะลำตัวเรียวยาว แบนข้าง ปากมีขนาดเล็กเชิดขึ้นด้านบนเล็กน้อย ส่วนหัวมีเกล็ดปกคลุม ครีบก้นมีฐานครีบค่อนข้างยาว มีจำนวนก้านครีบ 23 - 26 อัน ครีบท้องเล็กยาว สีของลำตัวเป็นสีเทาแกมดำ สีของครีบและเกล็ดบริเวณใกล้ครีบจะเป็นสีสดเข้มสีใดสีหนึ่งทั้งตัว เช่น ปลากัดสีแดง จะมีครีบทุกครีบและเกล็ดที่อยู่ใกล้ครีบเป็นสีแดงทั้งหมด

ลักษณะพันธุ์ของปลากัด ปลากัดที่มีเพาะเลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบัน มีหลายสายพันธุ์ดังนี้

4.1 ปลากัดลูกหม้อ มีลักษณะลำตัวค่อนข้างหนาเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น ส่วนหัวค่อนข้างโต ปากใหญ่ ครีบสั้นสีเข้ม เดิมมักจะเป็นสีเขียว หรือสีน้ำเงินแกมแดง แต่ปัจจุบันมีหลายสี เช่นสีแดง สีน้ำเงิน สีม่วง สีเขียว และสีนาก เป็นชนิดที่มีความอดทน กัดเก่ง ได้รับความนิยมสำหรับการกัดพนัน ปัจจุบันนิยมเรียกเป็นกลุ่มของ ปลากัดครีบสั้น

4.2 ปลากัดลูกทุ่ง มีลักษณะลำตัวเล็กกว่าพันธุ์ลูกหม้อ ลำตัวค่อนข้างยาว ครีบยาวปานกลางหรือยาวกว่าพันธุ์ลูกหม้อเล็กน้อย สีไม่เข้มมากนัก ส่วนมากมักจะเป็นสีแดงแกมเขียว เป็นพันธุ์ที่มีความตื่นตกใจได้ง่ายที่สุด การกัดจะมีความว่องไวมากกว่าพันธุ์ลูกหม้อ ปากคม แต่ไม่ค่อยมีความอดทน ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีจะรู้ผลแพ้ชนะ นิยมใช้ในวงการกัดพนันเช่นกัน

4.3 ปลากัดลูกผสม หรือพันธุ์สังกะสี หรือพันธุ์ลูกตะกั่ว เป็นลูกปลาที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างปลากัดลูกหม้อกับปลากัดลูกทุ่ง โดยอาจผสมระหว่างพ่อเป็นปลาลูกหม้อกับแม่เป็นปลาลูกทุ่ง หรือพ่อเป็นปลาลูกทุ่งกับแม่เป็นปลาลูกหม้อ ได้ทั้งสองแบบ ผู้เพาะต้องการให้ปลาลูกผสมที่ได้มีลักษณะปากคม กัดคล่องแคล่วว่องไวแบบปลาลูกทุ่ง และมีความอดทนแบบปลาลูกหม้อ โดยพยายามคัดปลาที่มีลักษณะลำตัวเป็นปลาลูกทุ่ง เพราะเมื่อนำไปกัดกับปลาลูกทุ่งแท้ ๆ ปลาลูกผสมนี้จะกัดทนกว่าปลาลูกทุ่ง

4.4 ปลากัดจีน เป็นปลากัดที่เกิดจากการเพาะและคัดพันธุ์ปลากัดโดยเน้นเพื่อความสวยงาม พยายามคัดพันธุ์เพื่อให้ปลามีหางยาวและสีสันสดเข้ม จนในปัจจุบันสามารถผลิตปลากัดจีนที่มีความสวยงามอย่างมาก มีครีบต่างๆค่อนข้างยาว โดยเฉพาะครีบหางจะยาวมากเป็นพิเศษและมีรูปทรงหลายแบบ มีสีสันสดสวยมากมายหลายสี เป็นปลาที่ไม่ค่อยตื่นตกใจเช่นเดียวกับปลาหม้อ แต่ไม่มีความอดทน เมื่อปล่อยกัดกันมักรู้ผลแพ้ชนะภายใน 10 นาที ไม่นิยมใช้ในการกัดพนัน ปัจจุบันนิยมเรียกเป็นกลุ่มของ ปลากัดครีบยาว

การจำแนกเพศปลากัด ปลากัดเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะภายนอกที่แสดงความแตกต่างกัน ซึ่งพอจะสังเกตได้หลายประการ คือ

5.1 สีของลำตัว ปลาเพศผู้จะมีสีของลำตัวและครีบ เข้มและสดกว่าปลาเพศเมียอย่างชัดเจน เมื่อปลามีอายุตั้งแต่ 2 เดือน หรือมีขนาดตั้งแต่ 3 เซนติเมตรขึ้นไป

5.2 ขนาดของตัว ปลาที่เลี้ยงในครอกเดียวกันปลาเพศผู้จะเจริญเติบโตเร็วกว่าปลาเพศเมีย

5.3 ความยาวครีบ ปลาเพศผู้จะมีครีบหลัง ครีบหาง และครีบก้นยาวกว่าของปลาเพศเมียมาก ยกเว้นปลากัดหม้อจะยาวต่างกันไม่มากนัก

5.4 เม็ดไข่นำ ปลาเพศเมียจะมีเม็ดหรือจุดขาวๆอยู่ 1 จุด ใกล้ๆกับช่องเปิดของช่องเพศ ลักษณะคล้ายกับไข่ของปลากัดเอง เรียกจุดนี้ว่าไข่นำ ส่วนปลาเพศผู้ไม่มี

การแพร่พันธุ์ของปลากัด ในธรรมชาติปลากัดเป็นปลาที่วางไข่ได้เกือบตลอดปี โดยปลาจะจับคู่วางไข่ตามน้ำนิ่ง ปลาเพศผู้จะทำหน้าที่สร้างรัง ด้วยการก่อหวอดที่บริเวณผิวน้ำและจะติดอยู่ใต้ใบพันธุ์ไม้น้ำชายฝั่ง หวอดนี้ทำจากลมและน้ำลายจากตัวปลา โดยการที่ปลาเพศผู้จะโผล่ขึ้นมาที่ผิวน้ำ แล้วใช้ปากฮุบเอาอากาศที่ผิวน้ำเข้าปาก ผสมกับน้ำลายแล้วพ่นออกมาเป็นฟองอากาศเล็กๆลอยติดกันเป็นกลุ่มทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร จากนั้นจะกางครีบว่ายวนเวียนอยู่ใกล้ๆหวอด เป็นเชิงชวนให้ปลาเพศเมียที่มีไข่แก่เข้ามาที่หวอด การผสมพันธุ์วางไข่จะเกิดขึ้นในช่วงเช้า เวลาประมาณ 7.00 - 8.00 น. โดยทั้งปลาเพศผู้และเพศเมียจะเข้าไปอยู่ใต้รัง จากนั้นปลาเพศผู้จะงอตัวรัดบริเวณท้องของปลาเพศเมีย ลักษณะนี้เรียกว่า “การรัด” ปลาเพศเมียจะปล่อยไข่ออกมาครั้งละ 7 - 20 ฟองในขณะเดียวกันปลาเพศผู้จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่ ในช่วงนี้ทั้งปลาเพศผู้และเพศเมียจะค่อยๆจมลงสู่ก้นบ่อ จากนั้นปลาเพศผู้จะค่อยๆคลายการรัดตัว แล้วรีบว่ายน้ำไปหาไข่ที่กำลังจมลงสู่พื้น ใช้ปากอมไข่นำไปพ่นติดไว้ที่หวอด ปลาเพศเมียก็จะช่วยเก็บไข่ไปไว้ที่หวอดด้วย เมื่อตรวจดูว่าเก็บไข่ไปไว้ที่หวอดหมดแล้ว จากนั้นปลาก็จะทำการรัดตัวกันใหม่ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนแม่ปลาไข่หมดท้อง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เมื่อวางไข่หมดแล้วปลาเพศผู้จะไล่กัดขับไล่ปลาเพศเมียไม่ให้มาใกล้รังอีกเลย เพราะเมื่อปลาเพศเมียวางไข่หมดแล้วมักจะกินไข่ของตัวเอง จะมีเฉพาะปลาเพศผู้เท่านั้นที่คอยดูแลรักษาไข่ คอยไล่ไม่ให้ปลาตัวอื่นเข้าใกล้รัง และจะคอยเปลี่ยนลมในหวอดอยู่เสมอ ไข่ของปลากัดจัดว่าเป็นไข่ประเภทไข่ลอย ถึงแม้ตอนปล่อยจากแม่ปลาใหม่ๆไข่จะจมน้ำ แต่เมื่อถูกนำไปไว้ในหวอดจะพัฒนาเกิดหยดน้ำมันและลอยน้ำได้ดี ลักษณะไข่เป็นเม็ดกลมสีขาว ใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 30 - 40 ชั่วโมง ปลาเพศเมียที่มีขนาดความยาวประมาณ 4 - 6 ซม. จะมีไข่ประมาณ 300 - 700 ฟอง เมื่อวางไข่ไปแล้วจะสามารถวางไข่ครั้งต่อไปภายในเวลาประมาณ 20 - 30 วัน

การเพาะพันธุ์ปลากัด การเพาะพันธุ์ปลากัดดำเนินได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้

7.1 การเตรียมพ่อแม่พันธุ์ ปลากัดจะสมบูรณ์เพศเมื่ออายุ 4 - 6 เดือน สามารถนำไปใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ การเลือกปลาเพศผู้ควรเลือกปลาที่คึกคะนอง คือ เมื่อนำปลาดังกล่าวไปใกล้กับปลาเพศผู้ตัวอื่น ก็จะแสดงอาการก้าวร้าวทันที โดยจะกางกระพุ้งแก้มและกางครีบ รี่เข้าหาปลาตัวอื่นทันทีพร้อมที่จะกัด หรืออาจสังเกตจากการสร้างหวอดก็ได้ เพราะปลาเพศผู้ที่สมบูรณ์เพศและพร้อมจะผสมพันธุ์ มักจะสร้างหวอดในภาชนะที่เลี้ยงเสมอ สำหรับปลาเพศเมียควรเลือกปลาที่มีท้องแก่ คือมีไข่แก่เต็มที่ โดยสังเกตได้จากส่วนท้องของปลา ซึ่งจะขยายตัวพองออกอย่างชัดเจน และเมื่อลองให้อดอาหารเป็นเวลา 1 วัน ส่วนท้องก็ยังคงขยายอยู่เช่นเดิม นำแม่ปลาที่เลือกได้ไปใส่ขวดแล้วนำไปวางเทียบกับปลาเพศผู้ เมื่อปลาเพศผู้แสดงอาการเกี้ยวพาราสี ปลาเพศเมียที่ท้องแก่จะเกิดลายสีขาวแกมเหลืองพาดจากส่วนหลังลงไปทางส่วนท้อง จำนวน 4 - 6 แถบ ในเรื่องสีสันของปลานั้นสามารถเลือกได้ตามความชอบของผู้ดำเนินการ เพราะปลาสีต่างกันสามารถผสมกันได้

7.2 การเทียบพ่อแม่พันธุ์ เมื่อเลือกได้ปลาเพศผู้และเพศเมีย ที่สมบูรณ์มีลักษณะและสีสันตามต้องการแล้ว นำปลาใส่ขวดแก้วใสขวดละตัวแยกเพศกันไว้ก่อน แล้วนำมาตั้งเทียบกันไว้ โดยการวางขวดใส่ปลาให้ชิดกันและไม่ต้อมีกระดาษปิดคั่น ต้องการปล่อยให้ปลามองเห็นกัน ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “การเทียบ” ควรเทียบไว้นานประมาณ 4 - 7 วัน เพื่อให้ปลาเกิดความเคยชินซึ่งกันและกัน เมื่อปล่อยลงบ่อเพาะแม่ปลาจะไม่ถูกพ่อปลาทำร้ายมากนัก ในขณะเดียวกันแม่ปลาก็จะมีไข่แก่เต็มที่

7.3 การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ บ่อหรือภาชนะที่จะใช้เป็นบ่อเพาะปลากัดควรมีขนาดเล็ก ส่วนมากนิยมใช้ภาชนะต่างๆไม่มีบ่อถาวร เช่น อ่างดินเผา กะละมัง ถัง หรือตุ่มน้ำขนาดเล็ก เพราะสะดวกกว่าการเพาะในบ่อ ภาชนะดังกล่าวมักมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 - 40 เซนติเมตร ใส่น้ำสะอาดลงในภาชนะที่เตรียมไว้ให้มีระดับสูงประมาณ 10 - 15 เซนติเมตร จากนั้นใส่พันธุ์ไม้น้ำที่มีใบหรือลำต้นอยู่ผิวน้ำ เช่น จอก ผักตบชวา ผักบุ้ง หรือผักกระเฉด ลงไปบ้างเล็กน้อยเพื่อให้ปลาสร้างหวอดได้ง่าย

การปล่อยปลาลงบ่อเพาะ เมื่อเทียบปลาไว้เรียบร้อยแล้วจึงปล่อยปลาทั้งคู่ลงบ่อเพาะที่เตรียมไว้ ต้องพยายามอย่าให้ปลาตื่นตกใจมากนัก จากนั้นหาแผ่นวัสดุ เช่น กระดาษแข็ง หรือแผ่นกระเบื้อง ปิดบนภาชนะที่ใช้เพาะ โดยปิดไว้ประมาณ 2 ใน 3 ของพื้นที่ปากภาชนะ เพราะปลากัดมักชอบวางไข่ในบริเวณที่มืด เนื่องจากต้องการความเงียบสงบ วัสดุที่นำมาปิดจะสามารถช่วยบังแสงและกันลมไม่ให้หวอดของปลาแตก เทคนิคที่สำคัญคือ การปล่อยพ่อแม่ปลาควรปล่อยในตอนเย็น เวลาประมาณ 17.00 - 18.00 น. เพราะโดยปกติแล้วเมื่อปล่อยพ่อแม่ปลารวมกัน ปลาเพศผู้จะเกี้ยวพาราสีปลาเพศเมีย โดยว่ายน้ำต้อนหน้าต้อนหลังอยู่ประมาณ 15 นาที จากนั้นจะไล่กัดปลาเพศเมียจนปลาเพศเมียจะต้องหนีไปแอบซุกอยู่ตามพันธุ์ไม้น้ำ แล้วปลาเพศผู้จะเริ่มหาที่ก่อหวอด เมื่อก่อหวอดไปพักหนึ่งก็จะไปไล่กัดปลาเพศเมียอีก ดังนั้นหากปล่อยปลาทั้งคู่ตั้งแต่เช้าปลาเพศเมียก็จะถูกกัดค่อนข้างบอบช้ำ แต่ถ้าปล่อยใกล้ค่ำเมื่อปลาเพศผู้หาจุดสร้างรังได้ก็จะค่ำพอดี ปลาเพศผู้จะไม่ไปรบกวนปลาเพศเมียอีก แต่จะสร้างรังไปจนเรียบร้อย รุ่งเช้าก็พร้อมจะผสมพันธุ์ได้

การตรวจสอบการวางไข่ของปลา ตามปกติแล้วถ้าปลามีการวางไข่ ก็มักจะวางไข่เสร็จก่อนเวลาประมาณ 10.00 น. ดังนั้นเมื่อปล่อยปลาลงบ่อเพาะแล้ว เช้าวันต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. จึงค่อยๆลองแง้มฝาปิดดู ถ้าพบว่ามีไข่เม็ดเล็กๆสีขาวอยู่ที่หวอด และมีพ่อปลาคอยเฝ้าอยู่ ส่วนแม่ปลาหนีไปซุกอยู่ด้านตรงข้ามกับหวอด แสดงว่าปลาวางไข่เรียบร้อยแล้ว ค่อยๆช้อนแม่ปลาออกไปเลี้ยงต่อไป ปลาเพศผู้จะคอยดูแลรักษาไข่ โดยหมั่นเปลี่ยนฟองอากาศในหวอดและตกแต่งหวอดให้คงรูปอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังคอยเก็บกินไข่เสียด้วย

การอนุบาลลูกปลากัด ลูกปลาจะฟักออกจากไข่หมดทุกฟองในวันที่สองหลังจากวางไข่ พ่อปลาจะคอยดูแลลูกที่ว่ายน้ำแล้วจมไปก้นบ่อ โดยจะไปอมลูกกลับมาไว้ที่หวอดเช่นเดิม รอจนตอนเย็นของวันถัดไปจึงช้อนเอาพ่อปลาออก ลูกปลาจะตกใจกระจายตัวออกจากหวอด ส่วนใหญ่ลงไปก้นบ่อแต่เมื่อรอสักครู่ก็จะพุ่งตัวขึ้นมาเกาะอยู่ตามพันธุ์ไม้น้ำหรือผนังบ่อใกล้ผิวน้ำ ในวันต่อมาถุงอาหารของลูกปลาจะหมดไป ลูกปลาจะเริ่มว่ายน้ำเพื่อหากินอาหาร

การอนุบาลลูกปลากัดจะเริ่มจากที่ลูกปลาเริ่มหากินอาหาร ซึ่งการอนุบาลลูกปลากัดนี้จัดว่าเป็นงานที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากปลากัดเป็นปลากินเนื้อตามที่กล่าวมาแล้ว ลูกปลาจึงต้องการอาหารที่มีชีวิต แต่ปัญหาจะอยู่ที่ว่าลูกปลากัดเป็นลูกปลาที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ปากจะไม่ใหญ่พอที่จะจับกินอาร์ทีเมียหรือไรแดงได้ อาหารที่เหมาะสมจะใช้ให้ลูกปลากินในช่วงนี้คือไข่แดง โดยใช้ไข่ไก่หรือไข่เป็ดมาต้มให้สุกแล้วแกะเอาเฉพาะไข่แดงไปเลี้ยงปลา เนื่องจากลูกปลากัดจะต้องการจับกินอาหารมีชีวิตยังไม่สามารถกัดแทะอาหารได้ ดังนั้นต้องนำเอาไข่แดงที่จะใช้ เช่น ลูกปลากัด 1 ครอกจะใช้ไข่แดงขนาดเท่าเม็ดถั่วดำต่อการให้ 1 ครั้ง ใส่ไข่แดงลงในกระชอนผ้า แล้ววางกระชอนลงบนขันหรือแก้วที่ใส่น้ำไว้พอประมาณ แล้วใช้นิ้วขยี้ไข่ในกระชอน ไข่แดงก็จะละลายหรือกระจายตัวเป็นเม็ดเล็กๆผ่านผ้าออกไปในน้ำ จากนั้นจึงใช้ช้อนตักแล้วค่อยๆรินลงบ่อปลาเพื่อให้อาหารมีการกระจายตัวทั่วบ่อ ซึ่งจากการที่ได้ขยี้ไข่แดงผ่านผ้าจะทำให้ไข่แดงแตกตัวออกเป็นเม็ดขนาดเล็กมากและมีน้ำหนักค่อนข้างเบา ดังนั้นจะมีการกระจายตัวได้ดีและจะค่อยๆจมตัวลง ทำให้ลูกปลานึกว่าเป็นไรน้ำก็จะฮุบกินไข่แดงได้

สำหรับภาชนะที่ใช้ในการอนุบาล ในช่วงแรกก็ควรยังเป็นภาชนะที่ใช้เพาะปลา เพราะยังต้องการภาชนะขนาดเล็กอยู่ เนื่องจากการใช้ไข่แดงเป็นอาหารนั้น ลูกปลาจะกินไข่แดงไม่หมด เพราะไข่แดงส่วนใหญ่จะค่อยๆจมตัวตกตะกอนที่ก้นภาชนะ และลูกปลาจะไม่ลงไปเก็บกินอีกเลย ไข่แดงที่ตกตะกอนนี้ในวันต่อไปจะบูดเน่าเป็นเมือกอยู่รอบก้นภาชนะ จึงจำเป็นต้องล้างบ่ออนุบาลหรือภาชนะที่ใช้อนุบาลทุกเช้า ซึ่งกระทำได้ไม่ยาก คือ ใช้กระชอนวางลงในบ่ออนุบาลแล้วใช้ขันค่อยๆวิดน้ำออกจากในกระชอน จะสามารถลดน้ำลงได้โดยลูกปลาไม่ติดออกมา และเศษไข่ก็จะไม่ฟุ้งกระจายเพราะเป็นเมือกเกาะติดกับภาชนะ ลดน้ำลงประมาณครึ่งภาชนะ แล้วจึงยกภาชนะค่อยๆรินทั้งน้ำและลูกปลาลงภาชนะใหม่แล้วเติมน้ำ จะเท่ากับเป็นการล้างบ่ออนุบาลและเติมน้ำใหม่ให้ลูกปลา ทำเช่นนี้ประมาณ 3 - 5 วัน ลูกปลาจะมีขนาดโตขึ้น จะเปลี่ยนบ่ออนุบาลให้มีขนาดให้มีขนาดใหญ่ขึ้น อาจใช้กะละมังพลาสติกขนาดใหญ่หรืออ่างซีเมนต์ และควรอนุบาลต่อโดยใช้อาร์ทีเมียหรือไรแดงซึ่งลูกปลาจะจับกินได้แล้ว เลี้ยงด้วยอาร์ทีเมียหรือไรแดงประมาณ 15 - 20 วันพร้อมทั้งถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ ลูกปลาจะโตได้ขนาดประมาณ 1.0 - 1.5 เซนติเมตร ก็จะเปลี่ยนลงบ่อบ่ออนุบาลให้มีขนาดใหญ่ขึ้นให้มีความจุมากกว่า 100 ลิตร แล้วเริ่มฝึกให้ลูกปลากินอาหารสมทบ โดยจะใช้ไข่ตุ๋น คือนำไข่เป็ดหรือไข่ไก่มาตีให้ไข่ขาวและไข่แดงเข้ากันดี ใส่เกลือและใส่น้ำพอประมาณเพื่อให้ไข่นุ่ม จากนั้นนำไปนึ่งพอสุก ไม่ควรนึ่งนานนักเพราะต้องการให้ไข่มีความนุ่ม นำไปใส่ให้ปลากินโดยใช้นิ้วขยี้ไข่ให้แตกกระจายออกพอควร และเริ่มให้มื้อเช้าแทนการให้ไร ปลาจะเริ่มตอดกินได้เอง เลี้ยงด้วยไข่ตุ๋นประมาณ 10 วันก็เปลี่ยนมาเป็นอาหารเม็ด โดยช่วงแรกควรใช้อาหารปลาสวยงามชนิดเม็ดเล็กพิเศษ ซึ่งค่อนข้างมีราคาแพงแต่ปลาจะกินได้ดี จะใช้เพียง 3 - 5 วัน แล้วเปลี่ยนเป็นอาหารเม็ดเลี้ยงปลาดุกเล็ก ลูกปลาก็จะสามารถตอดกินและเจริญเติบโตดี ใช้เวลาอนุบาลลูกปลาประมาณ 50 วัน ลูกปลาจะมีขนาดประมาณ 3 เซนติเมตร ซึ่งพอจะ สามารถแยกเพศได้

การเลี้ยงปลากัด บ่อเลี้ยงปลากัดถ้าเป็นบ่อดินควรมีขนาด 10 - 30 ตารางเมตร ถ้าเป็นบ่อซีเมนต์ควรมีขนาด 2 - 6 ตารางเมตร มีความลึกประมาณ 50 - 60 เซนติเมตร คัดแยกลูกปลาจากบ่ออนุบาลโดยคัดเอาเฉพาะปลาเพศผู้มาเลี้ยง เนื่องจากปลาเพศผู้เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าและราคาสูงกว่าปลาเพศเมียมาก ปล่อยเลี้ยงในอัตรา 150 - 200 ตัว ต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตรสำหรับบ่อดิน และอัตรา 100 - 150 ตัว ต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตรสำหรับบ่อซีเมนต์ แล้วเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดลอยน้ำ นอกจากนั้นควรใส่พรรณไม้น้ำพวกสาหร่าย และสันตะวา เพื่อป้องกันการทำอันตรายจากปลาด้วยกันเอง ใช้เวลาเลี้ยงอีกประมาณ 50 - 60 วัน ปลาจะมีขนาดประมาณ 5 เซนติเมตร สามารถคัดแยกใส่ขวดเพื่อรอจำหน่ายต่อไป

การลำเลียงปลากัด เนื่องจากปลากัดเป็นปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวก Labyrinth Fish จึงค่อนข้างมีความอดทน ทำให้สามารถลำเลียงในภาชนะขนาดเล็กๆไปเป็นระยะทางไกลๆเป็นเวลานานได้โดยไม่ต้องมีการอัดออกซิเจน วิธีการที่นิยมมากที่สุด คือการลำเลียงโดยบรรจุในถุงพลาสติกขนาดเล็กๆโดยไม่ต้องอัดออกซิเจน และใช้กระดาษห่อด้านนอกเพื่อให้ปลาสงบนิ่งทำให้ใช้พลังงานน้อยลง หรือการใช้ภาชนะขนาดเล็กๆพอดีกับตัวปลา ใส่น้ำพอท่วมตัวปลาโดยไม่ต้องปิดฝา แล้ววางเรียงซ้อนกันในกล่องโฟมอีกทีหนึ่ง ก็จะสามารถลำเลียงปลากัดได้คราวละจำนวนมากและเป็นระยะทางไกล หรือลำเลียงแบบรวมในถุงพลาสติคขนาดใหญ่โดยใส่ปลาจำนวนมากในแต่ละถุง

การตรวจสอบการวางไข่ของปลา ตามปกติแล้วถ้าปลามีการวางไข่ ก็มักจะวางไข่เสร็จก่อนเวลาประมาณ 10.00 น. ดังนั้นเมื่อปล่อยปลาลงบ่อเพาะแล้ว เช้าวันต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. จึงค่อยๆลองแง้มฝาปิดดู ถ้าพบว่ามีไข่เม็ดเล็กๆสีขาวอยู่ที่หวอด และมีพ่อปลาคอยเฝ้าอยู่ ส่วนแม่ปลาหนีไปซุกอยู่ด้านตรงข้ามกับหวอด แสดงว่าปลาวางไข่เรียบร้อยแล้ว ค่อยๆช้อนแม่ปลาออกไปเลี้ยงต่อไป ปลาเพศผู้จะคอยดูแลรักษาไข่ โดยหมั่นเปลี่ยนฟองอากาศในหวอดและตกแต่งหวอดให้คงรูปอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังคอยเก็บกินไข่เสียด้วย

ที่มา รศ.ประภาส โฉลกพันธ์รัตน์

เส้นทางเว็บไซต์
* การปรับภูมิทัศน์ ปลูกพันธุ์ไม้ และติดป้าย ในการทำศูนย์เรียนรู้
* การอบรม “การผลิตอาหารข้น แร่ธาตุก้อนเพื่อลดต้นทุน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการเลี้ยงแพะ-แกะ”
* การแปรรูปสัตว์น้ำจืด
* เทคโนโลยีการแปรรูปอาหารปลอดภัยเพื่อเพิ่มมูลค่า (น้ำตีผลา)
* เทคโนโลยีการแปรรูปอาหารปลอดภัยเพื่อเพิ่มมูลค่า (เค้กไข่ใต้หวัน)
* อบรมเชิงปฏิบัติการสร้างเส้นใยจากของเหลือการเกษตร
* การอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างสื่อวิดีโอคลิปด้วยมือถือเพื่อเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรรุ่นใหม่ในการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาฯ
* การผลิตเห็ดฟางและเห็ดโคนน้อยด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
* การเพิ่มศักยภาพการเพาะเลี้ยงปลากัด
* การผลิตผักปลอดภัยโดยวิธีผสมผสาน
* การผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง
* เทคนิคการสร้าง Content และ Fanpage

จำนวนผู้เข้าชม 166 คน
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
398 หมู่ 9 ถ.สวรรค์วิถี ต.นครสวรรค์ตก อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 60000

©2021 กลุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน (IT4CD)
All Rights Reserved. ติดต่อ orasa.t@nrsu.ac.th