การใช้ยาและสารเคมีป้องกันรักษาโรคปลากัด การเลี้ยงปลากัดมักประสบปัญหาเกี่ยวกับการเกิดโรคของปลา ตามปกติแล้วปลากัดเป็นปลาที่อดทนและสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี หากเลี้ยงได้อย่างถูกวิธีแล้วมักไม่ค่อยเป็นโรค โรคที่พบในปลากัดมักไม่ค่อยมีอาการรุนแรงถึงขนาดทำให้ปลาตายได้ ดังนั้นหากว่าผู้เลี้ยงทราบถึงสาเหตุและอาการของโรคที่เกิดขึ้นก็สามารถหาวิธีป้องกันและรักษาได้อย่างถูกต้อง การรักษาปลากัดที่เป็นโรคจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ

1. การแยกปลากัดที่ป่วยออกจากกัน ถ้าพบว่าปลากัดตัวหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งมีอาการป่วย ให้ทำการคัดแยกปลาป่วยออกมาใส่ภาชนะใหม่ เพื่อรอการรักษาต่อไป ส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้คัดแยกปลาที่ป่วย ควรทำความสะอาด หรือฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังใช้งาน รวมทั้งทำความสะอาดอวัยวะต่างๆของผู้เลี้ยง เพื่อป้องกัน การแพร่กระจายของโรคไปยังบ่ออื่นๆ

2. การพิจารณาโรคและการรักษา หลังจากคัดแยกปลากัดที่ป่วยออกมาแล้ว ให้พิจารณาอาการของปลา โดยดูจากลักษณะภายนอกว่ามีลักษณะอย่างไร สาเหตุของโรคมาจากอะไร และจะทำการรักษาวิธีไหน ตลอดจนจะป้องกันโรคได้อย่างไร เมื่อพิจารณาแล้วก็ดำเนินการวางแผนการรักษาต่อไป

โรคที่มักพบได้บ่อยในปลากัดมีอยู่หลายโรคด้วยกัน แต่ละโรคมักมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป บางโรคอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย บางโรคอาจเกิดจากเชื้อรา และบางโรคอาจเกิดจากปรสิตภายนอก ดังนั้นเราควรมารู้จักโรคที่สำคัญๆเหล่านี้คือ

1. โรคไฟลามทุ่ง เป็นโรคที่ติดต่อกันได้เร็วที่สุดใช้ระยะเวลาเพียง 2 -3 วันก็จะติดต่อกันหมด
ลักษณะอาการ เป็นแผลบริเวณโคนครีบหาง ครีบหู และครีบท้อง ขอบแผลจะมีลักษณะเป็นรอยช้ำแดง และเป็นเส้นปุยสีขาว เกล็ดของปลาจะพอง ปลาที่เป็นโรคจะลอยตัวอยู่บริเวณผิวน้ำ
การป้องกันรักษา ให้รีบช้อนปลาที่เป็นแผลออกทันที ส่วนปลาที่เหลืออยู่้ใช้ต้นหญ้าไทรที่ตากแดดหมาดๆนำมาใส่ในบ่อเลี้ยงให้มีปริมาณมากพอที่จะทำให้น้ำมีสีเข้ม และเป็นฝ้าเล็กน้อย แช่ปลากัดไว้ประมาณ 5 – 7 วัน คล้ายกับการหมักปลากัด เมื่อแผลของปลากัดหายแล้วให้ย้ายปลากัดไปเลี้ยงในตู้ หรืออ่างใหม่ที่ใส่หญ้าไทรเล็กน้อย พอให้เกิดเป็นสีชา ปลากัดที่เลี้ยงจะค่อยๆแข็งแรง และหายเป็นปกต

2. โรคปากดำ เป็นโรคที่รักษาไม่หาย ปลากัดที่เป็นโรคปากดำจะนำไปกัดไม่ได้ ทั้งนี้เพราะปลากัดใช้ปาก ในการต่อสู้ ถ้าปากของปลากัดเจ็บก็ไม่สามารถต่อสู้กับศัตรูได้
ลักษณะอาการ ปลากัดที่เป็นโรคปากดำ ขอบปากด้านบนจะมีขอบหนามากผิดปกติ และจะมีสีดำ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ
การป้องกันรักษา แม้ว่าโรคปากดำเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่โรคนี้ยังไม่มีทางรักษา ดังนั้นเมื่อพบว่าปลากัดที่เลี้ยงเป็นโรคปากดำให้ตักทิ้ง อย่าเสียดาย เพราะมิฉะนั้นจะทำให้ปลากัดตัวอื่นติดโรคนี้ไปด้วย

3. โรคปากเปื่อย จัดเป็นโรคที่ร้ายแรงชนิดหนึ่งของปลากัด โรคนี้รักษาไม่หาย ดังนั้นถ้าพบว่าปลากัดเป็นโรคปากเปื่อยต้องแยกออกทันที
ลักษณะอาการ เริ่มจากขอบปากเป็นแผลสีขาวและลักษณะเป็นขุยเส้นเล็กๆ ปลากัดที่เป็นโรค ปากเปื่อยจะไม่ค่อยว่ายน้ำและมักลอยตัวอยู่บริเวณผิวน้ำเฉยๆ
การป้องกันรักษา เนื่องจากโรคนี้ไม่มีทางรักษา ถ้าพบว่าปลากัดเป็นโรคชนิดนี้ควรรีบแยกออกทันที

4. โรคท้องมาน เป็นโรคที่อาจทำให้ผู้เพาะเลี้ยงปลาเข้าใจผิดคิดว่าปลาตั้งท้อง เพราะส่วนท้องของปลากัด จะพองออก โรคท้องมานอาจเกิดจากการที่ปลากัดติดเชื้อภายในช่องท้องและมีอาการอักเสบ
ลักษณะอาการ ปลากัดมีลักษณะท้องโตเนื่องจากการติดเชื้อภายในช่องท้องจนทำให้ท้องมีขนาดโตผิดปกติ
การป้องกันรักษา ผู้เลี้ยงบางรายใช้วิธีเอาดีเกลือ 1 ช้อนชา ผสมกับน้ำ 1.5 ลิตร จากนั้นจึงจับปลากัดลงแช่ 1-2 วัน อาการจะทุเลาลง

5. โรคปลาตัวสั่น ปลาที่เป็นโรคจะมีอาการสั่น สาเหตุเกิดจากน้ำที่ใช้เลี้ยงสกปรกมีแบคทีเรียปะปนอยู่มาก หรือเกิดจากอุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ลักษณะอาการ ปลาที่เป็นโรคนี้จะมีอาการตัวสั่นและว่ายน้ำผิดปกติ
การป้องกันรักษา ให้เปลี่ยนน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาโดยที่อุณหภูมิน้ำที่เปลี่ยนใหม่ต้องไม่แตกต่างจากน้ำที่อยู่ในตู้เลี้ยงเดิมมากเกินไป แล้วเติมเกลือลงในน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาอัตราส่วน 2 ช้อนชาต่อน้ำ 5 ลิตร เพื่อให้เกลือไปฆ่า เชื้อแบคทีเรียเล็กๆที่อยู่ในน้ำ ให้ลดจำนวนลง

6. โรคที่เกิดจากเชื้อรา โดยปกติแล้วเชื้อราไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของโรค สาเหตุของโรคเนื่องจากปลาได้รับความบอบช้ำ
ลักษณะอาการ เห็นปุยขาวคล้ายสำลีในบริเวณที่เป็นโรค ปลามีอาการซึมไม่ว่ายน้ำ หยุดกินอาหาร ปลากัดสีซีด
การป้องกันรักษา ใช้มาลาไคท์กรีนเข้มข้น 0.1-0.25 ส่วนในล้านส่วน ร่วมกับฟอร์มาลีน 25 ส่วนในล้านส่วน แช่ปลานาน 3 วัน

7. โรคหางและครีบเปื่อย เป็นโรคที่พบอยู่เสมอ สาเหตุเกิดจากน้ำที่ใช้เลี้ยงสกปรก มีตะกอนหรือเศษอาหารเหลือและทับถมอยู่ที่ก้นบ่อ ทำให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
ลักษณะอาการ ปลาจะเริ่มเปื่อยบริเวณครีบต่างๆก่อนแล้วค่อยๆลุกลามเข้าไปจนถึงตัวปลา โรคนี้เกิดจาก เชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นถ้าปลาเป็นโรคนี้แล้วจะทำให้ครีบต่างๆ ของปลาเสียหายไม่สวยงาม
การป้องกันรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาในอัตราส่วน 1-2 กรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ปลานานประมาณ 2-3 วัน ยาปฏิชีวนะที่ใช้ ได้แก่ ออกซีเตตร้าไซคลิน ไนโตรฟูราโซน เป็นต้น

ที่มา mahidol

เส้นทางเว็บไซต์
* การปรับภูมิทัศน์ ปลูกพันธุ์ไม้ และติดป้าย ในการทำศูนย์เรียนรู้
* การอบรม “การผลิตอาหารข้น แร่ธาตุก้อนเพื่อลดต้นทุน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการเลี้ยงแพะ-แกะ”
* การแปรรูปสัตว์น้ำจืด
* เทคโนโลยีการแปรรูปอาหารปลอดภัยเพื่อเพิ่มมูลค่า (น้ำตีผลา)
* เทคโนโลยีการแปรรูปอาหารปลอดภัยเพื่อเพิ่มมูลค่า (เค้กไข่ใต้หวัน)
* อบรมเชิงปฏิบัติการสร้างเส้นใยจากของเหลือการเกษตร
* การอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างสื่อวิดีโอคลิปด้วยมือถือเพื่อเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรรุ่นใหม่ในการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาฯ
* การผลิตเห็ดฟางและเห็ดโคนน้อยด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
* การเพิ่มศักยภาพการเพาะเลี้ยงปลากัด
* การผลิตผักปลอดภัยโดยวิธีผสมผสาน
* การผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง
* เทคนิคการสร้าง Content และ Fanpage

จำนวนผู้เข้าชม 177 คน
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
398 หมู่ 9 ถ.สวรรค์วิถี ต.นครสวรรค์ตก อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 60000

©2021 กลุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน (IT4CD)
All Rights Reserved. ติดต่อ orasa.t@nrsu.ac.th